จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 55/2566 หรือคดีแอปพลิเคชันเงินกู้ส่วนบุคคลออนไลน์ภายใต้ชื่อ “กู้ใด้ดีๆ” หรือ “ได้บาทง่าย ๆ – สินเชื่อด่วน” ได้มีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้โดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์ และมีแอปพลิเคชันปล่อยเงินกู้ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 80 แอปพลิเคชัน มีการปล่อยกู้และเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2,339.65 บาทต่อปี และกำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 7 วันเท่านั้น หากไม่ชำระเงินภายในกำหนด จะมีกลุ่มบุคคลโทรศัพท์ติดตามทวงหนี้ ข่มขู่ คุกคามลูกหนี้และบุคคลที่ปรากฏรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ของผู้กู้ ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวพบว่าปัจจุบันมียอดการดาว์นโหลดมากกว่า 1,000,000 ครั้ง จนปรากฏข้อมูลน่าเชื่อว่า นายชาญยุทธ (สงวนนามสกุล) และน.ส.กานติมา (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าของแอปพลิเคชันดังกล่าว ได้ใช้บัญชีเครือญาติและบัญชีม้าในการทำธุรกิจเงินกู้ออนไลน์ เงินทุนหมุนเวียนหลักพันล้านบาทนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม และคณะพนักงานสอบสวน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท นำโดย พ.ต.อ.นรากร บุญครอบ รอง ผบก.ภ.จว.ชัยนาท เข้าทำการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 2 จุด ตามหมายค้นของศาลจังหวัดชัยนาท เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ดังนี้ จุดที่ 1 บ้านพักของนายชาญยุทธ และ น.ส.กานติมา ในพื้นที่ อ.เมือง ส่วนจุดที่ 2 โรงสีวงษ์ชัยเจริญธัญญกิจ ในพื้นที่ อ.เมือง ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของทั้งคู่ อีกทั้งยังเคยปรากฏชื่อ น.ส.กานติมา เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอีกด้วย

สำหรับผลการตรวจค้น พ.ต.ต.ยุทธนา รรท.อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบและยึดสิ่งของเป็นพยานหลักฐานจำนวนหลายรายการ ประกอบด้วย ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งที่ใช้แล้วและยังไม่ได้เปิดใช้ จำนวน 150 ชิ้น โทรศัพท์มือถือ 20 เครื่อง กล่องโทรศัพท์ 70 กล่อง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร 120 เล่ม เงินหมุนเวียน 2,000 ล้านบาท คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กรวม 10 เครื่อง และเอกสาร ไฟล์ดิจิทัลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบ นอกจากนี้ยังตรวจพบว่ามีการเปิดตู้เซฟกับธนาคารแห่งหนึ่งใน จ.ชัยนาท คณะพนักงานสอบสวนจึงมีหนังสืออายัดตู้เซฟดังกล่าวเพื่อจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวด้วยว่า สำหรับพฤติการณ์ต้องสงสัยของทั้ง 2 ผู้ต้องหานั้น ดีเอสไอพบว่ามีการปล่อยกู้ผ่านการใช้ซิมม้า อีกทั้งจากการสืบสวนสอบสวนพบว่าเมื่อมีการปล่อยกู้และมีการชำระเงิน เงินทั้งหมดจะไหลเข้ามายังบัญชีส่วนกลาง ก่อนผ่านไปอีกบัญชีหนึ่งจนผ่านไปบัญชีสุดท้ายเพื่อกลุ่มผู้ต้องหานำเงินไปเปลี่ยนเป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และเจ้าหน้าที่ยังมีพยานหลักฐานบ่งชี้ด้วยว่าผู้ที่ครอบครองพื้นที่เป้าหมายทั้ง 2 แห่งนี้อาจเป็นผู้ที่ปล่อยกู้ตัวจริง และมีหน้าที่จัดการเรื่องซิมม้า

ด้านนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม เผยว่า การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ดีเอสไอได้รับการร้องเรียนจากเหยื่อที่หลงเข้าไปกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันและต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดเกินจะรับไหว จนนำมาซึ่งการสืบสวนและเข้าตรวจค้นดังกล่าวเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในการขออนุมัติหมายจับจากศาล ซึ่งดีเอสไอจะนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้งคู่มาทำการสอบสวนขยายผลในเชิงลึกต่อไป ว่ามีนายทุนรายใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่ เนื่องจากรายงานการสืบสวนพบว่ามีชาวต่างชาติที่นำเงินมาให้สองสามีภรรยาคู่นี้ในการบริหารจัดการปล่อยกู้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะยังไม่มีการแจ้งข้อหาใดแก่ทั้งคู่ โดยเจ้าหน้าที่จะสืบสวนจากพยานหลักฐานที่ตรวจยึดทั้งหมดก่อน เชื่อว่าภายในคอมพิวเตอร์จะมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียหายอีกจำนวนมาก เพราะเมื่อดูจากจำนวนครั้งของการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน มียอดกว่า 1 ล้านครั้ง และเราจะไปดูว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ได้ดำเนินการปล่อยกู้มาตั้งแต่ปีใด จำนวนครั้งการปล่อยกู้ ยอดปล่อยกู้ผู้เสียหายแต่ละราย เพื่อนำไปพิจารณาต่อการเรียกมาแจ้งข้อหาตามกรรมตามวาระ.