ในการแถลงข่าวระบุว่า การค้นพบของยาสุฮิโระ สึกาโมโตะ และทีมงานที่มหาวิทยาลัยเกียวโตทางตะวันตกของญี่ปุ่น อาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะผลิตชุดทดสอบไวรัสโคโรนาที่บ้านได้ในราคาถูก 

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสึกาโมโตะทำแผ่นกรองสำหรับหน้ากากอนามัยที่เคลือบด้วยสารแอนติบอดีของนกกระจอกเทศ แผ่นกรองนี้จะมุ่งจับเชื้อไวรัสโคโรนา โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า สัตว์ประเภทนกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ที่แข็งแรงมาก

ในกรณีศึกษาขนาดเล็ก ผู้ร่วมการทดลองได้สวมหน้ากากและหลังจากนั้น 8 ชั่วโมง ทีมงานก็ถอดแผ่นกรองออกแล้วนำไปพ่นด้วยสารเคมี ซึ่งจะทำให้บริเวณที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาติดอยู่เกิดการเรืองแสงภายใต้การส่องด้วยแสงยูวี โดยจากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า แผ่นกรองในหน้ากากอนามัยที่ผู้ป่วยโควิด-19 สวม เกิดการเรืองแสงบริเวณรอบปากและจมูก

ทีมงานหวังว่าจะได้พัฒนาหน้ากากอนามัยดังกล่าวต่อไปอีก เพื่อจะได้ผลิตหน้ากากอนามัยที่สามารถเรืองแสงได้โดยอัตโนมัติเมื่อมีการตรวจจับไวรัสได้ โดยไม่ต้องส่องดูด้วยแสงยูวี 

สึกาโมโตะเป็นอาจารย์ด้านสัตวแพทย์และเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เขาได้ศึกษาเกี่ยวกับนกกระจอกเทศมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อมองหาหนทางที่จะประยุกต์ใช้ภูมิคุ้มกันของนกเหล่านี้มาป้องกันโรคไข้หวัดนก โรคภูมิแพ้และโรคอื่น ๆ 

สีกาโมโตะกล่าวกับสำนักข่าวเคียวโดนิวส์ว่า เขาค้นพบว่าตัวเองก็ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากเขาสวมหน้ากากอนามัยที่ทำขึ้นเป็นพิเศษในการทดลอง แล้วพบว่าแผ่นกรองเกิดการเรืองแสงหลังการตรวจสอบ ซึ่งต่อมาเขาก็ได้รับการวินิจฉัยหลังจากการตรวจเชื้อตามมาตรฐานว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริง

เครดิตภาพ : Reuters