สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ว่านายริชาร์ด ซูลิก รมว.พลังงานของสโลวาเกีย แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านพลังงาน ซึ่งยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ว่า “หากต้องชำระโดยตรงเป็นเงินรูเบิล สโลวาเกียต้องทำเช่นนั้น” ปัจจุบัน สโลวาเกียนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นสัดส่วนมากถึง 85%


ก่อนหน้านั้นไม่นาน กระทรวงพลังงานของลิทัวเนียออกแถลงการณ์ว่า นับตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ลิทัวเนียจะ “ยุติความสัมพันธ์ด้านพลังงาน” ด้วยการไม่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอีก โดยจะเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งนำเข้าจากประเทศอื่นแทน แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจน ว่าคือประเทศใด อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงนำเข้าแอลเอ็นจีจากสหรัฐ อย่างน้อย 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในสิ้นปีนี้


นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา หาก “ประเทศและดินแดนที่ไม่เป็นมิตร” ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในยุโรป ประสงค์ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ต้องเปิดบัญชีกับธนาคารของรัสเซีย เพื่อการทำธุรกรรมเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น มิเช่นนั้น รัสเซียถือว่า “เป็นความล้มเหลวของลูกค้า” และผู้ผลิตของรัสเซีย “จะหยุดส่งก๊าซให้แก่ลูกค้ารายนั้น”


อย่างไรก็ดี ธนาคารก๊าซพรอมเป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวของรัสเซีย ณ เวลานี้ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดช่องทางรับชำระค่าก๊าซธรรมชาติที่เป็นทั้งสกุลเงินรูเบิล และดอลลาร์สหรัฐ หรือยูโร แล้วหลังจากนั้น ธนาคารก๊าซพรอมจะเป็นผู้คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเหล่านั้นเป็นเงินรูเบิลต่อไป.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES