“มองไกล เห็นใกล้”…อหิงสาในฐานะคนข่าวก็รับรู้การแจ้งเรื่องราวนี้ ก่อนมีโอกาสแวะเวียนไปสน.ห้วยขวาง และพบชาวต่างชาติรายหนึ่งรูปพรรณคล้ายหญิงรายชราพลัดหลง จึงประสานต่อสน.ลุมพินี

สุดท้ายเรื่องราวจบลงด้วยดี หญิงชราได้กลับบ้านพร้อมญาติ แต่จะมีคนชราพลัดหลงสักกี่คนที่โชคดีแบบนี้…

ต้องปรบมือให้สน.ลุมพินี ที่ออกประกาศจนพบตัว แต่อีกมุมก็เป็นคำถามขึ้นในใจ ถึงระบบ“ติดตามคนหาย” เพราะต้องไม่ลืมว่าสังคมเราเข้าสู่“สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”ตั้งแต่ปี 65 โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20% จากประชากรทั้งหมด และในอนาคตจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“อหิงสา”มีโอกาสพูดคุยกับ“เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่าแต่ละปีรับแจ้งคนหายเกือบพันราย ย้อนไปสัก 10 ปี เป็นสัดส่วนเด็กหายมากสุด ขณะที่ระยะหลังกลับเป็นกลุ่มสูงอายุที่มีภาวะหลงลืม-อัลไซเมอร์(60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มป่วยจิตเวช เรียกว่ารับแจ้งเกือบทุกวัน

อย่างที่บอก…ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดี หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย ชี้ว่าแม้คนหาย 80 % จะเจอตัว แต่อีก 20% ยังตามหาไม่พบ และเป็นเรื่องยากเพราะอาจหายจากพื้นที่หนึ่ง แต่ไปเสียชีวิตและกลายเป็นศพนิรนามอีกพื้นที่

อุปสรรค ปัญหา เรื่องคนหายชี้ว่าเป็นเรื่องระบบที่ไม่สอดคล้อง แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลเป็นของตัวเองอยู่แล้ว กลุ่มคนหายบางคนอาจถูกนำส่งสถานสงเคราะห์ หรือไปก่อคดีบางอย่าง เช่น เดินเข้าบ้านคนอื่น จนถูกแจ้งจับและส่งเข้าเรือนจำ หรืออาจประสบอุบัติเหตุเข้ารพ.

แต่ข้อมูลหน่วยงานไม่ถูกเก็บในสารบบเดียวกัน ความยากจึงอยู่ที่การต้องตระเวนประสาน สอบถาม แต่หากทำให้เป็นระบบตรวจสอบง่ายจะช่วยลดภาระญาติและคนตามหาได้ 

แน่นอนว่าครอบครัวที่มีเด็ก ผู้ป่วยจิตเวช หรือ ผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืม มีหน้าที่ต้องดูแลใกล้ชิด แต่สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาคนหายก็จำเป็นต้องพึ่งหน่วยงานรัฐหรือภาคสังคม ซึ่งหากพัฒนา“ฐานข้อมูลคนหาย”ได้ โอกาสติดตามตัวเจอจะง่ายและเร็วขึ้น

เพราะโดยพื้นฐานมนุษย์ “การรอคอย”คนที่รักกลับมาอย่างไร้จุดหมายฟังดูเป็นเรื่องเจ็บปวด และคงไม่มีใครอยากสูญเสียคนที่รักไปตลอดกาล ทั้งที่มีโอกาสหาเจอจริงหรือไม่ครับ.

อหิงสา