เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นางพัชรี  อายุ 47 ปี ชาวบ้านคำสว่าง ต.นาคำ อ.ศรีสงครามจ.นครพนม อาชีพทำสวนยางพารา ได้ร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวว่าเมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม ปี 2566 นางทองออน  อายุ 73 ปี ซึ่งเป็นมารดาของตนได้เกิดปวดท้องขึ้นมาอย่างรุนแรง จนแทบทนไม่ไหว ตนจึงพาไปโรงพยาบาล เอ  เพื่อตรวจรักษา แต่เมื่อไปถึงหลังพบแพทย์ แล้วแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และจ่ายยา ให้แล้วให้กลับบ้าน แต่เมื่อมาถึงบ้านอาการก็ไม่ดีขึ้นยังคงมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงตลอดเวลาจึงต้องนำตัวแม่ส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง และครั้งนี้ทางโรงพยาบาลได้ส่งตัวแม่ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลบี

น.ส.พัชรี กล่าวว่า เมื่อไปถึงหลังจากตรวจดูอาการแล้วแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องทำการผ่าตัด แต่เนื่องจากคุณแม่ทานยาสลายลิ่มเลือดเป็นประจำ จึงต้องหยุดกินยาก่อนเป็นเวลา 2 วัน ถึงจะทำการผ่าตัดได้ หลังนอนรออยู่จนครบสองวัน ทางโรงพยาบาลก็แจ้งว่าห้องผ่าตัดไม่ว่างยังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้  ขณะนั้นอาการของแม่ก็ทรุดหนักเนื่องจากไส้ติ่งอักเสบจนแตก ตนจึงขอให้ส่งตัวแม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียงคือโรงพยาบาล ซี แทนเนื่องจาก ตนก็เป็นคนไข้ที่เคยรักษาที่นั่นอยู่เป็นประจำ แต่แพทย์เจ้าของไข้ไม่อนุญาต ตนจึงประสานไปที่โรงพยาบาลเอ  พร้อมขู่ว่าหากแม่ของตนเป็นอะไรไปตนจะฟ้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเนื่องจากทางแพทย์ของโรงพยาบาลวินิจฉัยโรคผิดพลาด เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานมายังโรงพยาบาลบี ให้ดูแลเคสนี้เป็นพิเศษ คืนนั้นคุณแม่ก็ได้รับการผ่าตัดทันที

น.ส.พัชรี กล่าวว่า ตนจำได้ว่าเป็นวันที่ 22 ธันวาคม 2566 หลังผ่าตัดแพทย์ยังไม่สามารถเย็บแผลได้เนื่องจากมีการอักเสบติดเชื้อ รอจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม แพทย์จึงทำการเย็บแผลให้แล้วก็ให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน โดยให้ไปล้างแผลที่โรงพยาบาลศรีสงครามระหว่างนั้นแผลผ่าตัดก็เกิดการอักเสบและติดเชื้อมีหนองไหลออกมาตลอดเวลา เมื่อไปล้างแผลที่โรงพยาบาลเอ  พยาบาลก็บอกว่าที่มีหนองออกมาเป็นเรื่องปกติ ตนก็ขอให้ทางโรงพยาบาลส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลบี เนื่องจากเป็นผู้ผ่าตัดแต่กลับได้รับคำตอบว่าถึงไปก็คงไม่รอด  แต่ถ้าจะไปต้องเหมารถไปกันเองทางโรงพยาบาลจะไม่มีรถส่งตัวให้ ตนจึงตัดสินใจขับรถพาแม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลซี ทันที เนื่องจากสิ้นหวังกับระบบการรักษาที่ผ่านมาและยังไม่อยากเห็นแม่ต้องเสียชีวิต 

น.ส.พัชรี กล่าวว่า โดยตนขับรถยนต์ส่วนตัวพาแม่ไปส่งที่โรงพยาบาลซีด้วยตัวเอง และเมื่อไปถึง แพทย์เห็นอาการของคุณแม่มีการการติดเชื้ออย่างรุนแรง แผลผ่าตัดมีหนองไหลออกมาและส่งกลิ่นเหม็นเน่า ก็ตกใจรีบทำแผลให้ใหม่พร้อมกับให้ยาแก้อักเสบแล้วส่งตัวกลับมารักษาต่อ ที่โรงพยาบาลบีเหมือนเดิม  โดยแพทย์ที่โรงพยาบาลซี ได้ทำหนังสือส่งตัวให้ตนเองนำกลับมาด้วย โดยคุณแม่ได้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลซี เป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นแพทย์ก็ส่งมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเอ ต่ออีก 7 วัน จนอาการดีขึ้นแผลไม่ติดเชื้อ แล้วแพทย์ก็อนุญาตให้กลับมารักษาตัวต่อที่บ้านโดยยังนอนป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

น.ส.พัชรี กล่าวว่า หลังจากที่อาการของคุณแม่ดีขึ้นตนจึงได้ไปร้องที่สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดนครพนม เพื่อเรียกร้องขอรับค่าเยียวยาเนื่องจากการรักษาที่ผิดพลาดของทีมแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาล โดยได้ยื่นคำร้องไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 แต่กลัวว่าเรื่องจะเงียบหายไปจึงได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนมอีกที่หนึ่ง 

น.ส.พัชรี กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องไปร้องเพื่อขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้ เพราะแม่ของตนต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ยังเป็นปกติสามารถดูแลหลาน ๆ แทนตนทำให้ตนสามารถออกไปทำงานหาเงินได้  แต่ปัจจุบันตนต้องหยุดทำงานเพื่อมาดูแลแม่ที่ต้องป่วยติดเตียง จึงขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัวไปด้วย  ซึ่งยอดเงินที่ตนเรียกร้องไปเป็นเงินหลักล้าน โดยหวังว่าจะนำเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายในครอบครัวต่อไปเกี่ยวกับ

เรื่องนี้ทางผู้สื่อข่าวได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แต่ได้รับคำตอบว่าติดราชการต่างอำเภอยังไม่สะดวก ที่จะให้สัมภาษณ์แต่จะขอชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ในภายหลัง