เมื่อวันที่ 18 พ.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีโอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพันทั้งปวง ระหว่าง สำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ (กศน.) ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกล่าวตอนหนึ่ง ว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 โดยยกระดับจากสำนักงาน กศน. เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่จัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติ 1.พัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เป็นคนดี มีวินัย 2.ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 3.รู้จักความพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 4.ใฝ่เรียนรู้ มีความรอบรู้ รอบคอบ มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริต 5.มีสำนึกในความรับผิดชอบ มีความเป็นพลเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในได้อย่างผาสุก 6.เพื่อให้บุคคลได้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก และมีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น

“พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่นที่จะร่วมกันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต นอกจากนี้ การเรียนรู้ของประชาชนคนไทย ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ปรัชญา No One Left Behind หรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จุดเด่นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเดิม จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่จะขยายตัวรองรับทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มทักษะชีวิต กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกรมใหม่ล่าสุดของประเทศไทยที่มีภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง และมีความคาดหวังว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของประเทศไทย ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ อย่างแท้จริง” น.ส.ตรีนุช กล่าว.

ด้าน นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของ สำนักงาน กศน. ไปสู่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ คงปฏิเสธไม่ได้กับความคาดหวังของสังคมว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วประชาชน จะได้อะไรบ้าง ซึ่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และบุคลากรของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ทุกคน ขอยืนยันว่าจะมุ่งมั่นดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม เต็มสรรพกำลังความสามารถ ผลักดันให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา และนำไปสู่การเรียนรู้ของคนไทยตลอดช่วงชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย ลดคสามเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับสังคมในภาพรวมของประเทศต่อไป