เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ติดตามและให้กำลังใจครูและนักเรียน โรงเรียนในเครือข่ายภาคเหนือตอนบนของโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทางฯ (Interactive Distance Learning : IDL) ใน “ค่ายปฐมนิเทศและการเตรียมความพร้อมนักเรียนสู่ห้องเรียน IDL” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2566 ณ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ผ่านระบบ Google Meet โดยมี ผอ. รอง ผอ. และผู้รับผิดชอบจาก สทร.สพฐ. ผอ.รร.ต้นทาง (รร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ สพม.เชียงราย) ผอ.รร.ปลายทาง (รร.บ้านแซววิทยาคม สพม.เชียงราย, รร.ราชประชานุเคราะห์ 15 สพป.เชียงราย และ รร.อมก๋อยวิทยาคม สพม.เชียงใหม่) ครูผู้ประสานงาน ครูผู้สอน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูผู้ดูแลระบบ และนักเรียนห้องเรียน IDL ร่วมรับฟังในระบบออนไลน์
.
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า โครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนต้นทาง 5 โรงเรียน และโรงเรียนปลายทาง 15 โรงเรียน ให้ได้เรียนรู้ผ่านระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบสื่อสารสองทาง ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาครูในโรงเรียนเครือให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ในสาระหลักได้ดีขึ้น โดยการบริหารงานแบ่งเป็น 5 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายภาคเหนือตอนบน เครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายภาคกลาง และเครือข่ายภาคใต้
.
สำหรับเครือข่ายภาคเหนือตอนบน มีโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย เป็นโรงเรียนต้นทาง และมีโรงเรียนปลายทาง 3 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม จังหวัดเชียงราย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ จัดค่ายครูและนักเรียนของทั้งโรงเรียนต้นทางและปลายทาง ได้มีปฏิสัมพันธ์และมีกิจกรรมร่วมกันของเครือข่ายภาคเหนือตอนบนเพื่อส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้สำหรับนักเรียนห้องเรียน IDL ขึ้น และเป็นการเติมเต็มความรู้ให้กับนักเรียน รวมถึงส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันทั้ง 4 โรงเรียน และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ เครือข่ายอันดีของนักเรียนอีกด้วย
.
“ทั้งนี้ จากการติดตามการดำเนินงานดังกล่าว สิ่งที่ได้เห็นและรู้สึกชื่นชม คือ การประสานความร่วมมือระหว่างสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IDL) ทั้ง 5 ภูมิภาค ในระยะที่ 1 ให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนในระยะที่ 2 การดำเนินการโครงการการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ห้องเรียน IDL) จะเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จเหมือนกับระยะที่ 1 ได้นั้น จะต้องมีการติดต่อประสานงานและร่วมมือกันจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งนักเรียนทั้งสองทางจะได้มีปฏิสัมพันธ์ ได้แลกเปลี่ยนเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งในวันนี้ได้เห็นบรรยากาศ ความมีชีวิตชีวา รอยยิ้มของผู้เรียนทั้งต้นทางและปลายทาง ในการจัดค่ายปฐมนิเทศและการเตรียมความพร้อมนักเรียนสู่ห้องเรียน IDL ซึ่งภูมิภาคภาคเหนือตอนบนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ภูมิภาคอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับภูมิภาคของตนเอง รวมทั้งเป็นตัวอย่างของการปลดรั้วโรงเรียนแข่งขันสูงซึ่งเป็นต้นทาง ทำให้นักเรียนโรงเรียนปลายทางได้มีโอกาสเรียนรู้กับครูคนเดียวกันแบบสื่อสารสองทาง ได้ทั้งพัฒนาครู สร้างประสบการณ์ที่เพิ่มเติมให้ทั้งต้นทางและปลายทาง เพิ่มโอกาสที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนปลายทางที่ได้เรียนกับครูถึง 2 คน จากต้นทาง และครูปลายทาง ผลจากเฟสแรก ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่จบจากห้อง IDL ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนปลายทางได้เป็นอย่างดี และสร้างความภูมิใจในการร่วมสร้างเด็กให้โรงเรียนต้นทางด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำความเข้มแข็งให้การศึกษา ในลักษณะโรงเรียนพร้อมกระจายความรู้ให้กับทุกโรงเรียนเป็นอย่างดี ส่งผลให้ยกระดับได้พร้อมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเกิดคุณภาพได้หมดค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว