เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมกันแถลงเตรียมการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมืองในวันที่ 4 ก.ย. 64 โดยแนะนำการหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจร

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กรณีที่มีการนัดหมายชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันนี้จะมีกลุ่มหลักๆ นัดหมายรวมตัวทำกิจกรรมดังนี้ 1.กลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่ม REDEM นัดหมายเวลา 16.00 น. ที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์-สวนลุมพินี 2.กลุ่มอาชีวะคนพันธ์ R นำโดยนายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม นัดหมายจะเดินทางมารัฐสภา 3.กลุ่มทะลุแก๊ส นัดหมายรวมกลุ่มที่แยกดินแดง

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ขอเตือนว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การชุมนุมหรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 10 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อีกส่วนหนึ่ง หากมีพฤติการณ์กระทำผิดอื่นๆ อาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องด้วยโดยทาง บช.น. ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไว้แล้ว

ส่วนกรณีการชุมนุมของวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กลุ่มทะลุแก๊สเริ่มรวมกลุ่มเวลา 16.35 น. ที่แยกดินแดง ได้ทำผิดกฎหมายหลายอย่าง มีการขว้างปาสิ่งของ ยิงหนังสติ๊ก พลุ ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง ระเบิดแสวงเครื่องต่างๆ วางแผงเหล็กปิดการจราจร จุดไฟเผาสิ่งของบริเวณใต้ทางด่วน เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ของทางราชการ และเอกชนเสียหายจำนวนหนึ่ง โดย บช.น. จะทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบบุคคลที่ได้กระทำผิดในครั้งนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมายทุกรายตามความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, รวมกลุ่มมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 10 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย ผู้ใหญ่ 8 คน พร้อมของกลางรถเครื่องขยายเสียง 3 คัน ที่ใช้ในการปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนร่วมกัน มากกว่ายี่สิบห้าคนในเขตพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ นอกจากนี้จับกุมเยาวชน 2 ราย ที่บริเวณถนนดินแดง ก่อนทางลงอุโมงค์ดินแดง ในข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.” สำหรับภาพรวมการชุมนุมตั้งแต่เดือน ก.ค. 64-ถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดี 176 คดี มีผู้ต้องหา 660 คน จับกุมแล้ว 403 คน

ส่วนกรณีของกลุ่มรีเดมเป้าหมายต้องการอะไรและจะมีการปะทะหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกและปฏิรูปสถาบัน มีการเรียกร้องต่างๆ จึงอยากให้แก้ไขปัญหาตามกระบวนการ ระบบและแนวทางที่มีอยู่ หากเคลื่อนไหวนอกสภาจะละเมิดกฎหมาย ส่วนแนวปะทะนั้นตำรวจไม่ได้ต้องการปะทะกับใคร แค่รักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ทั้งนี้มีการข่าวอาจจะมีการกระทำไม่สมควรกับอนุสาวรีย์ ร.6 เป็นหน้าที่ตำรวจที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดความเสียหายกับสถานที่

ส่วนการผลักดันออกจาก รพ.จุฬาฯ นั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ตำรวจไม่อยากให้มาบริเวณนั้น การปิดการจราจรของกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหลายจุด การข่าววันนี้จะมีการปิดการจราจรบริเวณหน้า รพ. ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายและก่อความเดือดร้อนประชาชนในภาพรวม ขอวิงวอนให้กลุ่มผู้ชุมนุมไตร่ตรองให้รอบคอบถึงการชุมนุมบริเวณดังกล่าว ส่วนการนำรถเครื่องเสียงมาจะต้องถูกยึด เพราะเป็นรถที่ใช้ในการกระทำผิด เจ้าของหรือผู้ให้ยืมต้องเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ว่ารถของท่านไปอยู่ในสถานที่ที่มีการละเมิดกฎหมายได้อย่างไร

สำหรับเส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบนั้น พล.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า เส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการชุมนุมนั้น บริเวณโดยรอบสวนลุมพินี มี 6 เส้นทาง ควรหลีกเลี่ยงตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ได้แก่ 1. ถนนราชดำริ ตั้งแต่แยกราชประสงค์–แยกศาลาแดง 2. ถนนหลังสวน 3.ถนนวิทยุ 4.ถนนสารสิน 5.ถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกอังรีดูนังต์–แยกวิทยุ 6.ถนนสีลม ตั้งแต่แยกศาลาแดง–แยกสีลม-นราธิวาสฯ ส่วนเส้นทางเลี่ยงให้ใช้เส้นทาง 1. ทางพิเศษศรีรัช 2.ทางพิเศษเฉลิมมหานคร 3. ถนนพระราม 9 4.ถนนรัชดาภิเษก 5.ถนนจตุรทิศ 6.ถนนเพชรบุรี 7.ถนนเพลินจิต 8.ถนนสุขุมวิท 9.ถนนสาทรเหนือ 10.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 11.ถนนเจริญกรุง 12.ถนนอังรีดูนังต์ 13. ถนนพญาไท 14.ถนนพระราม 1 15. ถนนบรรทัดทอง 16. ถนนพระราม 6 สำหรับหน้ารัฐสภามีบริเวณแยกเกียกกาย ถนนทหาร ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ส่วนสามเหลี่ยมดินแดงก็หลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าวโดยรอบ อาทิ ถนนพหลโยธินซอย 2 เชื่อมต่อขาเข้าถนนวิภาวดีรังสิต แยกดินแดง.