เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนจาก อดีตผู้ป่วยโควิด-19 ชาย 2 ราย คือ นายไก่ (นามสมมุติ) อายุ 36 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป กับ นายเป็ด (นามสมมุติ) อายุ 36 ปี อาชีพทำสวนทุเรียน ว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยโควิดในหอผู้ป่วยชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร นั้นปริมาณและคุณภาพไม่น่าจะสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ พร้อมนำถุงอาหารในแต่ละวัน ออกมาให้ผู้สื่อข่าวดู โดยในถุงแรก เป็นเพียงข้าวสวยและไข่ต้ม ผัดเผ็ดที่มีแต่ผักและหมูสามชั้น 3 ชิ้น ชุดที่ 2 เป็นข้าวผัดไส้กรอกที่มีไส้กรอก 3 ชิ้น พร้อมแกงจืดฟักเขียว 1 ชิ้น และถั่วเขียวต้ม และน้ำปลาพริก 1 ซอง

ชายหนุ่มทั้งสองคน เปิดเผยว่า พวกตนเป็นอดีตผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เมื่อช่วงวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากตรวจพบว่า ตัวเองติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ทุ่งตะโก 2 วัน ต่อมาในวันที่ 17 ส.ค. ได้ถูกย้ายมาอยู่ที่หอผู้ป่วยชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอทุ่งตะโก หรือ Community Isolation (CI) ได้รับการรักษา 14 วัน จนหายเป็นปกติ ในระหว่างรักษาในหอผู้ป่วยฯ ซึ่งมีทั้งเด็ก คนหนุ่มสาว คนแก่ ทั้งหญิงชายร้อยกว่าคน ช่วงเปิดใหม่ๆ มีบุคคลระดับสูงฝ่ายต่างๆ ในจังหวัดเดินทางมาเยี่ยม ตรวจอาหารที่ได้รับวันละ 3 มื้อ อยู่ในเกณฑ์ดี มีทั้งข้าวพร้อมกับข้าว บางวันก็เป็นข้าวผัด ราดหน้า แต่ผ่านพ้นไปได้เพียง 4-5 วัน คุณภาพ และปริมาณอาหารก็เปลี่ยนไปมาก เหมือนกับที่นำมาให้ดูในวันนี้ ซึ่งเป็นอาหารของมื้อเช้าและมื้อเที่ยงของวันนี้ที่ผู้ป่วยไม่กิน

ทั้งสองคนระบุอีกว่า เมื่อผู้ป่วยกินไม่ลง ก็หันไปกินอาหารแห้งที่มีผู้บริจาคแทน ในแต่ละมื้อจึงมีอาหารเหลือจำนวนมาก รวมถึง ภาชนะที่ใส่อาหารก็เป็นเพียงถุงพลาสติกบางๆ ทำให้ไม่แน่ใจในความปลอดภัยของอาหาร แทนที่จะใส่กล่องอาหาร ผู้ป่วยหลายคนยอมรับไม่ได้กับอาหารในลักษณะดังกล่าว โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้าวสวยกับไข่ต้ม หรือผัดไข่กับผัก ผัดเผ็ดกับเศษหมู หรือข้าวผัดกับเนื้อหมูเพียงเล็กน้อย วนเวียนซ้ำซากทุกวัน ทั้งที่งบประมาณอาหารมีถึงคนละ 150 บาทต่อวัน แต่คุณภาพและปริมาณอาหารไม่น่าจะถึง 60 บาท

อดีตผู้ป่วยโควิดทั้งสองคน กล่าวอีกว่า พวกตนอยากให้มีการตรวจสอบ เพราะในขณะนี้ยังมีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายในหอผู้ป่วยแห่งนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดไม่ได้ต้องการอาหารที่หรูหราแต่อย่างใด เพียงขอให้เปลี่ยนประเภทอาหารบ้าง เช่น ราดหน้า ข้าวมันไก่ ที่ขายกันเพียง 30-40 บาท มีปริมาณที่กินแล้วอิ่ม พออยู่ได้ในแต่ละมื้อก็พอใจแล้ว เพราะเมื่ออยู่ในสถานที่รักษาตัว เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้รับอาหารจากบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นญาติหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกมาเยี่ยม เนื่องจากกลัวจะติดเชื้อ ถ้ามีก็เป็นอาหารแห้งที่ได้รับบริจาคมาบ้าง ที่น่าเห็นใจและน่าสงสารมาก คือ เด็กๆ และคนชรา ที่ไม่สามารถกินอาหารที่จัดมาให้ได้ จนผู้ป่วยหลายคนต้องคอยแบ่งอาหารที่มีเนื้อหมู หรือไข่ให้ ส่วนตัวเองก็กินเพียงน้ำแกงหรือน้ำปลา เป็นที่น่าสังเวชใจมาก

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ทำอาหารพบว่า ใช้สถานที่ภายในลานรับซื้อผลปาล์ม ข้างถนนลูกรังภายในลานปาล์ม ไมได้มีลักษณะเป็นสถานที่ประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ประกอบอาหารก็ไม่สวมหน้ากาก ไม่สวมถุงมือด้วย ทั้งที่งบประมาณในการจัดหาอาหารที่ใช้งบของทางราชการมีมากถึงวันละ 15,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ในบางวันมีผู้ป่วยมากกว่า 150 คน

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ทราบเรื่องพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้จัดทำอาหารให้กับผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยแห่งนี้เป็นหน่วยงานไหน จึงพยายามสอบถามไปยังหน่วยงานระดับจังหวัดชุมพร แต่เนื่องจากเป็นวันหยุด จึงไม่มีผู้ใดรับโทรศัพท์ ทราบเบื้องต้นว่า มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานหนึ่งให้คนใกล้ชิดรับเหมาไปทำ แต่มีการหักหัวคิวกันหลายระดับกว่าจะถึงผู้ป่วยจึงทำให้มีสภาพอาหารแบบที่นำออกมาแฉให้สังคมได้รับทราบ.