เมื่อเสื้อผ้าแฟชั่นที่ผลิตในบังคลาเทศหรือจีนเพื่อส่งไปขายในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) ที่สหรัฐ ยุโรปหรือเอเชีย ขายไม่หมดหรือขายไม่ได้ พวกมันจะถูกส่งไปยังประเทศชิลีในฐานะ “ขยะ”
ในปี 2564 มีข้อมูลว่า เสื้อผ้าที่ถูกนำมาทิ้งในสถานที่ทิ้งขยะในทะเลทรายอะตาคามา ของชิลี มีไม่ต่ำกว่า 39,000 ตัน
ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ‘สกายไฟ’ (SkyFi) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจากดาวเทียม ได้โพสต์ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากดาวเทียมแสดงให้เห็นภาพกองภูเขาขยะเสื้อผ้าเหล่านี้ลงบนเว็บบล็อกของบริษัท และโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ของ สกายไฟ เองเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566
By purchasing a $44 Existing Image at 50 cm resolution, we can confirm the giant clothes pile in the desert of Chile exists and is growing. https://t.co/47SssKPdtI pic.twitter.com/RlfUSBWbu9
— SkyFi (@SkyfiApp) May 10, 2023
สกายไฟ ได้เขียนข้อความกำกับภาพไว้ว่า “ภาพถ่ายความละเอียดระดับ 50 ซม. ซึ่งถือว่าเป็นความละเอียดของภาพที่สูงมาก บันทึกไว้ด้วยระบบถ่ายภาพของดาวเทียม และมันแสดงให้เห็นว่ากอง (เสื้อผ้า) มีขนาดใหญ่แค่ไหน เมื่อเทียบกับขนาดของตัวเมืองที่อยู่ทางด้านล่างของภาพ”
แฟรงคลิน เซเพดา ผู้ก่อตั้งบริษัทอีโคฟีบรา (EcoFibra) ที่พยายามจะนำเสื้อผ้าเหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำโดยนำไปทำเป็นแผ่นฉนวนกันความร้อน ให้ข้อมูลว่า ระบบไม่สามารถส่งเสื้อผ้าเหล่านี้ไปยังพื้นที่ทิ้งขยะของเทศบาลได้ เพราะมันไม่ใช่วัตถุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและมักจะมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ
เสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่กลายเป็นขยะเหล่านี้จึงถูกส่งไปทิ้งยังพื้นที่ใกล้กับท่าเรืออิกิเก และอยู่ไม่ไกลจากย่านชุมชนคนยากจนของเมือง จึงมีทั้งหญิงชาวบ้านและผู้อพยพเข้ามาค้นกองขยะเพื่อหาสิ่งที่พอจะสวมใส่ได้หรือนำไปขายต่อ

ในปี 2561 องค์กรสหประชาชาติเผยข้อมูลว่า อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเสื้อผ้าตามเทรนด์ได้อย่างทั่วถึง แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2-8% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก
นอกจากนี้ จำนวน 85% ของเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมนี้จะกลายเป็นขยะทุกๆ ปี อีกทั้งกระบวนการผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ยังใช้น้ำสะอาดในปริมาณมหาศาลและสร้างมลภาวะแก่แม่น้ำลำธารและแหล่งน้ำอื่นๆ
แหล่งข่าว : businessinsider.com
เครดิตภาพ : AFP, Twitter / @Skyfiapp