กระแสการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้ง 2566 ยังคงเป็นที่จับตาโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และพรรคใหม่ รวม 8 พรรค ที่เซ็น MOU ร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล แต่งตัวรอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เมื่อปัจจุบันเกิดกระแสข่าวแย่งเก้าอี้ประธานสภาระหว่าง พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ออกมาอย่างเปิดเผย ทำให้อาจเป็นศรย้อนกลับมายังพรรคก้าวไกลและนายพิธา ที่ความฝันจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะกลายเป็นฝันลมๆแล้งๆหรือไม่

เมื่อย้อนไปดูหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งก็เคยมีเหตุฟ้าผ่าแคนดิเดตนายกฯ มาแล้ว วันนี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพาไปย้อนความทรงจำครั้งวันวานอีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งนั้นต้องย้อนไปก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หลังจากที่รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกรัฐประหาร โดยคณะ รสช.ในปี 2534 มีการตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาอีก 3 ครั้ง ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2535 ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น อันดับ 1 พรรคสามัคคีธรรม ได้คะแนน 79 ที่นั่งอันดับ 2 พรรคชาติไทย ได้คะแนน 74 ที่นั่งอันดับ 3 พรรคความหวังใหม่ ได้คะแนน 72 ที่นั่งอันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 44 ที่นั่งและพรรคอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 360 ที่นั่ง แต่ผู้นำของพรรคสามัคคีธรรม “ณรงค์ วงศ์วรรณ” ต้องถอนตัว เพราะถูกสงสัยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด พรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 จึงเชิญ “พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์”ายทหารอากาศ ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหารคณะ รสช. และมีไมตรีที่เป็นมิตรกับนักการเมือง จนถูกเรียกว่าเป็น “มือประสานสิบทิศ” ให้มาเป็นหัวหน้าพรรค และจะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี คนต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีการประชุมกันหลายครั้ง ที่เรือนรับรองกองทัพอากาศ และอีกหลายที่ ท้ายที่สุด พล.อ.อ.สมบุญ เข้าพูดคุยกับ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. ขณะนั้น กระทั่งได้ข้อสรุปที่ว่า ให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนต่อไปแทน จากนั้นการเมืองไทยก็คุกรุ่นดุเดือด เมื่อเกิด พฤษภาทมิฬ ปี 2535

กระทั่งหลังจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชื่อที่ฝ่ายรัฐบาล และพรรคร่วม เห็นด้วยที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็กลับมาที่ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เช่นเดิม

แต่แล้วประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจจารึกชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย เมื่อผู้ที่มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ คือ ประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ขณะนั้น และจากการปรึกษากับ ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาฯ ขณะนั้นอย่างถี่ถ้วนแล้ว ในที่สุดเมื่อประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ออกมา กลับเป็นเรื่อง “พลิกโผประวัติศาสตร์” เพราะนายกฯ ที่มารับช่วงต่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร คือ อานันท์ ปันยารชุน ทำเอา พล.อ.อ.สมบุญ ที่เก็บตัวอยู่บ้านพัก และได้รับโทรศัพท์ให้แต่งตัวเตรียมรับพระบรมราชโองการ ไม่ได้รับตำแหน่งแต่อย่างใด

ซึ่งผู้ที่เสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน นั้นก็คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภา ขณะนั้น ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง ที่พยายามจะให้ ทูลเกล้าฯ ถวายนายกฯ ชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ

ด้วยความระลึกถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยความเคารพ ปัจจุบัน พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 23 ก.ย.56 ขณะที่ เหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาซึ่งการขนานนาม ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ว่า “วีรบุรุษประชาธิปไตย”