กลายเป็นเรื่องที่สังคมเฝ้าจับตาเป็นอย่างมาก กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถูก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบปมการพบชื่อ นายพิธา ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
วันนี้ 5 มิ.ย. ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพาทุกคนมารู้จัก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กันให้มากยิ่งขึ้น สำหรับ นายเรืองไกร เกิดวันที่ 26 ส.ค. 2504 ที่ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ จบการศึกษามัธยมจากโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ปริญญาตรีบริหารธุรกิจ (บัญชี) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายเรืองไกร เป็นที่รู้จักของสังคม จากการปรากฏเป็นข่าวในต้นปี 2549 กรณีกรมสรรพากรได้คืนเช็คให้แก่ นายเรืองไกร แต่ นายเรืองไกร ไม่ได้ไปขึ้นเงิน เพราะเป็นกรณีเปรียบเทียบกับกรณีที่กรณี ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปได้ ซึ่ง นายเรืองไกร ซื้อหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต่อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท ต้องเสียภาษี แต่กรณีของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์กลับไม่ต้องเสียภาษี และ นายเรืองไกร ยังได้ยื่นฟ้องร้องเรื่องการที่กรมสรรพากรกระทำการนี้ด้วยสองมาตรฐานอีกด้วย
ต่อมา นายเรืองไกร เริ่มเข้าสู่สนามการเมือง โดยวันที่ 19 เม.ย. 2549 สมัครลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จากนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จนเมื่อ คุณหญิงจารุวรรณ สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. นายเรืองไกร ออกมาทำหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2553 ขอให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ คุณหญิงจารุวรรณ หลังพ้นตำแหน่งไปแล้วด้วย
เส้นทางของ นายเรืองไกร มาเป็นที่โดดเด่นอีกครั้ง วันที่ 2 มี.ค. 2551 นายเรืองไกร ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในแบบสรรหา ซึ่ง นายเรืองไกร จัดอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว.
ต่อมาปี 2551 นายเรืองไกร ปรากฏเป็นข่าวโด่งดัง ในเดือน พ.ค. เนื่องจากได้ยื่นฟ้องร้อง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่าการจัดรายการโทรทัศน์ เป็นการผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือไม่ ซึ่งในเดือน ก.ย.2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ชื่อของนายเรืองไกร เป็นที่โจษขาน ในฐานะ ผู้ล้มยักษ์
พ.ศ. 2557 นายเรืองไกร มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 41 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ปี 2562 ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่พรรคถูกยุบ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว นายเรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กระทั่งปี 2564 มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
ม.ค.2565 นายเรืองไกร ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ สืบเนื่องมาจากพรรคถอนออกจากร่วมรัฐบาล และกลับเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกใหม่อีกรอบเมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2565
ที่ผ่านมา นายเรืองไกร โดดเด่นด้านการตรวจสอบ และการร้องเรียนอย่างมาก มีผลงานการตรวจสอบ อาทิ การยื่นฟ้องกรมสรรพากร ว่า 2 มาตรฐานกรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปได้ไม่ต้องเสียภาษี ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกรณีจัดรายการชิมไปบ่นไป ร้องตรวจสอบพระเครื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้องตรวจสอบ แหวนแม่ นาฬิกายืมเพื่อน ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ การครอบครองรถจักรยานราคาแพง ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ป.ป.ช.หรือไม่ ร้องตรวจสอบ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กรณีพระบูชา นาฬิกา สร้อยคอ ว่ามีมูลค่าเกินกฎหมายกำหนด ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดนเรื่องนาฬิกาข้อมือ เป็นต้น.