ในปี 2557 ได้มีการริเริ่มโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ภายใต้ความร่วมมือของ WWF ประเทศไทยร่วมกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขานํ้าพุ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย โดย WWF ประเทศไทย ได้มอบปลอกคอวิทยุสื่อสาร (Radio Collar) เพื่อวิจัยและติดตามประชากรของวัวแดงในโครงการ “ปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ” ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี โดยมีการปล่อยจำนวน 10 ตัว

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินสถานภาพประชากร และการกระจายของวัวแดงในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 70 คน จาก 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอุทยานแห่งชาติ Panthera องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์และแผนดำเนินการและมีตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐาน โดยเน้นการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ในการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินสถานภาพและแนวทางการอนุรักษ์วัวแดง ประเมินจำนวนประชากร การกระจายพันธุ์ ภัยคุกคาม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัวแดงในประเทศไทยทั้งในรูปแบบการอนุรักษ์ในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิด นำไปสู่การนำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการกำหนดแนวทาง และทิศทางในการฟื้นฟู การดูแลจัดการประชากรวัวแดงอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้วัวแดงคงอยู่เป็นสมบัติของประเทศไทยและของโลกต่อไป อีกทั้งรูปแบบหรือทิศทางในการอนุรักษ์วัวแดงนี้ยังสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดอื่น การประชุมในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งที่สำคัญ

รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า วัวแดง (Banteng; Bosjavanicus) ถูกจัดอยู่ในสถานภาพสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดย พบว่าวัวแดงที่กระจายอยู่ในพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยหลายแห่งอยู่ในสภาพวิกฤติและประชากรมีแนวโน้มลดลง อย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลประชากร การกระจายพันธุ์ และภัยคุกคามของวัวแดงในพื้นที่อนุรักษ์ ในภาพรวมของประเทศไทยยังไม่ได้ถูกรวบรวมให้มีความทันสมัยและให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในระดับพื้นที่อนุรักษ์และข้อมูลอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนอนุรักษ์วัวแดงในอนาคต

ด้าน ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาพสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านโรคติดต่อระหว่างสัตว์ป่ากับปศุสัตว์ มีความสำคัญมากต่อการอนุรักษ์ประชากรวัวป่า ทั้งในธรรมชาติและในสถานที่เพาะเลี้ยง ซึ่งยังมี องค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยาและระบาดวิทยาน้อยมาก ทั้งเชื้อโรคเก่า เช่น ไวรัสปากเท้าเปื่อย และเชื้ออุบัติใหม่ เช่น ไวรัสลัมปีสกิน จึงยากต่อการป้องกันและควบคุมโรคที่คุกคามวัวป่า ในระยะยาวการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ประชากรและพันธุศาสตร์ โมเลกุลรวมถึงเทคโนโลยีโอมิกส์ จะมาช่วยสร้างความเข้าใจแบบองค์รวมมากขึ้นและสามารถนำมาสร้างมาตรการและนโยบายการจัดการประชากรและความเสี่ยงด้านสุขภาพได้ดีขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์นักวิจัยประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิจัยผู้ศึกษาการเพาะเลี้ยงวัวแดง กล่าวว่า หลังจากได้นำ “วัวแดง” ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการใช้ “กล้องถ่ายภาพสัตว์” ติดตามการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติหลังจากที่ปล่อยไป ปัจจุบันได้ทำให้ “วัวแดง” ที่ปล่อยไป 19 ตัว มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 28 ตัว

เทคนิคการเพาะเลี้ยง “วัวแดง” อยู่ที่การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ในวัยเจริญพันธุ์ 3-4 ปี ซึ่งมีลักษณะสมส่วน เขาไม่บิดเบี้ยวและไม่ผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เลี้ยงด้วยพืชตามธรรมชาติเสริมด้วยดินโป่ง ซึ่งก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจะมีการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์เก็บไว้เพาะเพิ่มจำนวนเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นนวัตกรรมในการจัดการดูแล “วัวแดง” ซึ่งนอกจากการเพาะพันธุ์เพื่อเยียวยาภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว ยังได้ติดตามความเป็นอยู่ของ “วัวแดง” หลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อการวางแผนการจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อไป

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF – World Wide Fund for Nature) และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนประจำประเทศไทย (ZSL – Zoological Society of London – Thailand) ให้การสนับสนุนและต่อยอดวิจัย “วัวแดง” ไทย-อินโดนีเซีย แบบคู่ขนาน ความหวังในอนาคตเมื่อวัวแดงทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล อาจได้รับพัฒนาสู่การเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” แต่ปัจจุบัน วัวแดง ยังเป็นสัตว์คุ้มครอง

ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์

ทั้งนี้ “วัวแดง” มีความโดดเด่นสวยงามจากสีขนนํ้าตาลแดงในขณะยังไม่โตเต็มวัย ก่อนเปลี่ยนเป็นสีดำคล้าย “กระทิง” เมื่อตัวผู้โตเต็ม
วัย แต่แตกต่างจาก “กระทิง” ตรงที่ “กระทิง” ไม่มีวงก้นขาวอย่าง “วัวแดง” และดูดุดันกว่าเมื่อยามตื่นตระหนก

นอกจากวงก้นขาวแล้ว “วัวแดง” ยังมีวงรอบปากขาว วงตาขาว และขนสีดำบริเวณหลัง ตลอดจนขาทั้ง 4 ข้างคล้ายใส่ถุงเท้าขาว ซึ่งทำให้ดูแตกต่างจากวัวทั่วไปอีกด้วย

เฟซบุ๊ก WWF ให้ข้อมูลว่า ประชากรวัวแดงและกระทิง มีผลต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัวแดงซึ่งเป็นเหยื่อที่สำคัญของเสือโคร่งและสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ และเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อการหมุนเวียนธาตุอาหารในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ เนื่องจากระบบย่อยอาหารของมันช่วยเร่งกระตุ้นให้เมล็ดพรรณไม้เจริญงอกงามได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากจำนวนวัวแดงเพิ่มขึ้น ก็หมายถึงป่ามีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และโอกาสในการขยายจำนวนประชากรสัตว์ใหญ่ในป่าก็มีมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากสามารถพื้นฟูประชากรวัวแดงได้ โอกาสในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่แห่งนี้ก็ย่อมเป็นไปได้เช่นกัน.

ทีมข่าววาไรตี้

ภาพ DNP and WWF Thailand