เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำที่ 287/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกเป็นแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร รวม 22 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 รวมทั้งความผิดอื่น ๆ กรณีชุมนุมปักหมุดที่สนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย.63

ในวันนี้ศาลยังได้นัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนประกันตัวนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง โฆษกกลุ่มราษฎร, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ จากกรณีการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่นำโดย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563

โดนวันนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาศาล ขณะเดียวกันมีมารดาของนายพริษฐ์, มารดาของน.ส.ปนัสยา และมารดาของนายไชยอมร เดินทางมายังศาลอาญา เพื่อรับฟังการพิจารณาและไต่สวนคดีด้วย แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด

ขณะที่ นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ได้เดินทางมาศาลโดยมีเหตุกระทบกระทั่งไม่พอใจเจ้าหน้าที่ศาลอาญา ก่อนออกอาการโวยวายบริเวณบันไดทางขึ้นศาล จนเจ้าหน้าต้องเข้าเจรจาให้สงบสติอารมณ์

โดยนายกฤษฎางค์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดีว่า วันนี้ศาลนัดพิจารณาคดีนายพริษฐ์ และเพื่อนอีก 22 คน คดีปักหมุดคณะราษฎร์ โดยนัดแนวทางการสอบพยาน และกำหนดระยะเวลาสืบพยานกี่ปาก และเมื่อไหร่บ้าง นอกจากนี้ ยังมีคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอถอนประกัน นายอานนท์, นายภาณุพงษ์, น.ส.ปนัสยา และนายไชยอมร ซึ่งวันนี้เราคงขอฟังเหตุผลจากอัยการโจทย์ ว่าจะมาถอนประกันเด็กๆ ในเรื่องอะไร

นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งถอนประกันไปแล้ว 2 คน คือนายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ ทนายเตรียมจะสอบถามว่าคำสั่งที่ถอนประกันไปโดยไม่ฟังเหตุผลของจำเลย เป็นเพราะอะไร เราคงจะขอให้ศาลรื้อฟื้นขึ้นมาพิจาณาใหม่ อยากฟังเหตุผลของศาลที่ชัดเจน เพราะเราเห็นว่าลูกความเราไม่ได้ทำผิดอะไร เมื่อให้ประกันไปแล้ว การถอนประกันควรฟังสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าจำได้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ศาลถอนประกันไปโดยให้เหตุผลว่า คำร้องของอัยการโจทก์นั้นฟังได้ชัดแล้ว ซึ่งผิดหลักการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องฟังทั้ง 2 ฝ่าย เพราะการถอนประกันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ถือว่าเป็นการพิจารณาคดี วันนี้คงมีหลายเรื่อง รวมทั้งมีเรื่องของคดีที่นัดพร้อมด้วย

เมื่อถามว่าในกรณีที่บางคน ศาลยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติม แต่หลังๆจะเป็นการถอนประกัน ในกรณีของรายใหม่นั้น คาดหวังจะเป็นรูปแบบไหน นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนให้ความเห็นในฐานะทนายของจำเลยว่า การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ถ้ากลัวหลบหนีก็กำหนดเขตเดินทาง หรือห้ามเข้าสถานที่ที่ไม่เหมาะสม แต่ในกฎหมายเขียนว่า ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระอันไม่จำเป็นให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เพราะเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ อย่างกรณีเงื่อนไขที่เรารับ เพราะถือว่าเงื่อนไขพวกนี้ ถ้ามันผิดต่อกฎหมาย เราก็อาจจะต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหรืออะไรกันต่อไป

นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีการออกเงื่อนไขกำหนดกับผู้ชุมนุมหลายคน เช่น มีการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลอีเอ็ม และกำหนดห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 15.00-04.00 น. ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาไม่ทำกัน เพราะผู้คนต้องทำมาหากิน ต้องเรียนหนังสือ หากศาลจะสั่งก็สั่งไปเลยว่าไม่ให้ออกไปไหน แต่ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 15.00-04.00 น.นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เรากำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่าการไม่ให้ประกันเป็นความจำเป็นทางการทำมาหากิน การเรียนหนังสือของคน บางครั้งเขาต้องกลืนเลือดที่จะยอมรับเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนมีอำนาจบอกว่าถ้าคุณไม่รับก็ไม่เป็นไร ก็ไม่ต้องให้ประกัน แต่ความจริงแล้วคงต้องปฏิรูปหรือแก้ไขเรื่องคำสั่งประกันพวกนี้อีกมาก

เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้ ดูเข้มข้นขึ้น นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ในฐานะประชาชน ตนก็เข้าใจ และเห็นด้วย แต่ในฐานะทนายความ หากถามความเห็นตนก็เห็นว่า เมื่อรับเป็นทนายของเขาแล้ว ก็คงต้องฟังเหตุผลของเขา เมื่อลูกความยังยืนยันว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ เราก็ต้องการพิสูจน์ อาจจะยากลำบากนิดหน่อย ถ้าผิดก็ติดคุก ถ้าชนะคดีก็เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ทั้งสื่อมวลชนที่จะมาใช้สิทธิในการเคลื่อนไหวในระหว่างที่รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“ดังนั้นถ้าถามว่ากังวลใจหรือไม่ ในฐานะเป็นทนายก็กังวลใจทุกวัน กลัวศาลจะถอนประกัน เพราะลูกความอยู่ในคุกอันตราย และคุยกันไม่ได้ อย่างผมกับนายพริษฐ์ ก็ไม่ได้ปรึกษาคดีกันเลย เอกสารที่โจทก์อ้างมาประมาณ 20-30 ลังนั้น ผมจะนำให้นายพริษฐ์ดูได้อย่างไร แม้แต่วันนี้ที่ขึ้นศาล เขาบอกว่าจะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งโดยระบบมันไม่เวิร์ก ดังนั้นกังวลใจเรื่องการต่อสู้คดีมากกว่า ขอศาลว่าจริง ๆ แล้วให้เด็กๆ ได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ดีกว่า ถ้าเราจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นความผิดตามมาตรา 112 จริงหรือไม่ หรือเป็นกรณีที่รัฐเอามาตรา 112 มากลั่นแกล้งเด็ก ๆ” นายกฤษฎางค์ กล่าว

ด้าน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า วันนี้มี 2 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกเป็นการนัดพร้อมเพื่อสืบพยานหลังจากเลื่อนมาหลายครั้ง ซึ่งวันนี้ไม่แน่ใจว่าจะเลื่อนต่อไปหรือไม่ เพราะหลายคนติดโควิดอยู่ที่เรือนจำ อย่างไรก็ตาม ขอเรียนศาลด้วยความเคารพว่า พวกเขาอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการติดโควิด และเป็นอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติ เนื่องจากเขายังต่อสู้คดีอยู่ จึงอยากให้ศาลพิจารณาให้ประกันตัวเพื่ออกมาต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ส่วนประเด็นที่สองเป็นเรื่องที่เรากังวลใจมาก กรณีไต่สวนคำร้องขอให้มีการถอนการประกันตัวนายอานนท์ นายภาณุพงษ์ น.ส.ปนัสยา และนายไชยอมร ซึ่งหากมีการถอนประกันในวันนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าเสรีภาพของเราสูญสิ้นเกือบหมด สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเสียหาย จึงอยากให้มีการไต่สวนรายละเอียดเรื่องสิทธิพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุม การแสดงออกความคิดเห็นต่างๆ เป็นสิทธิที่สำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่าโควิดในขณะนี้ ส่วนการใช้โควิดก็เป็นเรื่องข้ออ้างอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพ เพราะจะเป็นเครื่องมือเดียวที่พาเราพ้นวิกฤติประเทศชาติ ไม่อย่างนั้นจะเจอวิกฤติที่หนักขึ้นไปอีก นั่นคือวิกฤติทางการเมือง และขณะนี้กำลังเป็นวิกฤติทางศีลธรรมด้วย ถ้ามีการถอนประกัน อย่างกรณีนายไชยอมร ไปร้องเพลง 2 เพลงยังโดนถอนประกัน นั่นหมายความว่าอย่าว่าแต่สิทธิในการชุมนุม สิทธิการดำรงชีวิตเป็นปกติสุขในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ถูกคุกคามด้วย

“วันนี้อยากให้ไต่สวนกันให้เต็มที่ ให้คำนึงถึงการทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมากกว่าการสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลเผด็จการในขณะนี้ อยากให้กระบวนการยุติธรรมได้เข้าใจ พวกผมไม่ใช่อาชญากร ไม่ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรที่กระทบต่อบ้านเมืองในทางเสียหาย พวกผมต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ก้าวหน้า ต่อสู้เพื่อให้แก้ไขปัญหาทั้งเรื่องของรัฐบาล ต่อสู้เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นความปรารถนาดีทั้งสิ้น ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่ง จะวิงวอนองค์กรตุลาการให้พิจารณาประเด็นนี้” นายสมยศ กล่าว

ขณะที่ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เรามีข้อกังวลคือ แต่ละคนที่มาไต่สวน หรือนัดพร้อมเราได้รับอนุญาตให้นำญาติเข้าได้ 1 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นการขัดต่อสิทธิที่เราจะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ไม่ต่างอะไรกับการพิจารณาโดยลับ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าการมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสังคมใหม่ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สุดท้ายเราก็ยินยอมที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ศาลควรจะให้ความยุติธรรมในการที่เราจะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย สาธารณชนต้องสามารถเข้ารับฟังการพิจาณาคดีได้ในทุกขั้นตอน นี่เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เราเป็นห่วง และกังวลในเรื่องนี้ อาจจะต้องแถลงต่อศาลต่อไปว่ากรณีเราถือว่าถูกละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อจำเลย “กลุ่มราษฎร” คดีชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” หรือคดีชุมนุมปักหมุดคณะราษฎร 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 (คดีหมายเลขดำ อ287/2564) เรียงลำดับ

1.นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

2.นายอานนท์ นำภา

3.นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์

4.นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

5.น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง

6.นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์

7.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน

8.นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่

9.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอม

10.นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์

11.นายธนชัย เอื้อฤาชา หรือหอย

12.นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน

13.น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก

14.นายธานี สะสม

15.นายณัฐชนน ไพโรจน์

16.นายภัทรพงศ์ น้อยผาง

17.นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์

18.นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ

19.นายสิทธิ์ทัศน์ จินดารัตน์

20.นายณัทพัช อัคฮาด

21.นายธนพ อัมพะวัต

22.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง