นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ไลน์ได้ให้บริการในไทยครบ 12 ปีแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญของไลน์ ในปีนี้จึงจะมีการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อคนไทยออกมาโดยเฉพาะ ชูแนวคิด “แชต อีโคโนมี่” (Chat Economy) หลังจากที่ปัจจุบันคนไทยทุกเพศทุกวัยใช้แชต เพื่อพูดคุยสื่อสาร ตลอดไปจนถึงตั้งกรุ๊ปแชตไลน์ เพื่อใช้ในการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ญี่ปุ่น ไม่มีการใช้ไลน์ แชตในการทำงานเลย โดยจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาพัฒนาโซลูชั่นใหม่ เพื่อขยายบริการสู่ธุรกิจใหม่ๆ
“คนไทยใช้ไลน์ ทั้งกับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกเจนเนเรชั่น ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน คือ ตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเจนวาย (อายุ 28-42 ปี) มีมากถึง 82% ที่ใช้งานกรุ๊ปแชตบนไลน์ เพื่อการทำงาน และใช้ ไลน์ คอล ควบคู่กันด้วย และมีมากถึง 88% ที่ใช้งานไลน์บนคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น กลุ่มเจนวาย ยังเป็นกลุ่มที่มีช่วงเวลาการใช้งานไลน์นานที่สุดถึงประมาณ 100 นาทีต่อวัน ในส่วนด้านการบริโภคจับจ่าย ยังพบว่าเจนวาย เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายบนไลน์มากที่สุด ด้วยยอดผู้ใช้จ่าย ซื้อของผ่านไลน์ มากกว่าเจนอื่นๆ ถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้ใช้งานเพศหญิง ทั้งนี้ โดยระหว่าง 8 โมงเช้าถึงเที่ยงวัน ในวันจันทร์ถึงศุกร์ จะมีการเข้าใช้งาน ไลน์ ออฟฟิเชียล แอคเคานท์ หรือ ไลน์ โอเอ มากที่สุด”

นายนรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการสำรวจวิจัย การใช้งานกรุ๊ปแชตดังกล่าว เพื่อนำมาพัฒนาฟีเจอร์ด้วย เอไอ เพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะได้เห็นภายในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า และจะพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือเดิมอย่าง มาย คัสโตเมอร์ สำหรับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลลูกค้า ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ให้ครบเครื่อง เพื่อการทำธุรกิจด้วยดาต้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับโฉมใหม่เครื่องมือ มาย เรสเตอรองท์ สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหาร ให้ใช้งานได้ดีกว่าเดิม รวมถึงการเปิดตัว ไลน์ โอเอ สโตร์ อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้สามารถมองหาและเข้าถึงพาร์ทเนอร์ นอกจากนี้จะออก มายซีอาร์เอ็ม สำหรับจัดการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าด้วยฟีเจอร์ที่ครบครัน และพัฒนา มายช็อป สำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกธุรกิจ ให้เปิดร้านได้ง่าย และ ไลน์ ทูเดย์ ที่จะมีการขยายความรวมมือกับพันธมิตรให้มากขึ้น ในการหารายได้ด้านต่างๆ

ขณะที่ LINE OpenChat ถือเป็นหนึ่งบริการที่เป็นที่นิยมของคนทุกวัย ด้วยยอดการใช้งานสูงสุดถึง 10 ชม. ต่อวัน เรียกได้ว่าเป็นบริการที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ในเชิงสถิติการเข้าใช้งานที่ยาวนานที่สุด หรือที่เราเรียกว่า ‘Always On’ เมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานประจำ 17 ล้านคนต่อเดือน ในปีนี้ LINE OpenChat มีแผนพัฒนาฟีเจอร์ LIVE Talk เปิดการพูดคุยแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นการเปิดประสบกาณ์แบบใหม่ แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวแบบไม่เปิดเผย พร้อมมีแผนพัฒนาให้เปิดพื้นที่สำหรับอินฟลูเอนเซอร์บนโลกของ ไลน์ อีกด้วย
นายนรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วน LINE STICKERS จะขยายขอบเขตธุรกิจ licensing เพื่อผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ในไทย ดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จล่าสุดจากโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่าง K Plus และ LINE Creators LINE MELODY ที่จะมุ่งขยายธุรกิจจากการทำธุรกิจเพลง สู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีโดยรวม ด้วยหลากหลายกิจกรรมการส่งเสริม พร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก หรือศิลปินอิสระ สามารถเข้ามาเป็นพันธมิตรในการสร้างรายได้และการเติบโต

และ LINE HORO ที่จะขยายธุรกิจจากบริการดูดวง ขอพร ทำบุญออนไลน์ สู่การบริจาคยุคใหม่ Donation on LINE ที่สะดวกและเชื่อถือได้ โดยล่าสุดได้พิสูจน์ความสำเร็จจากโครงการบริจาคโลงศพ และโครงการระดมทุนรับบริจาคช่วยเหลือสังคม ที่ร่วมมือกับเทใจ ด้วยยอดเงินบริจาคมากกว่า 2 ล้านบาท ภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา