เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเด็กนักเรียนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์และสัญชาติไทยจากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อ่างทอง จำนวน 126 คน ได้เดินทางโดยรถบัส 4 คัน เพื่อถูกนำตัวไปยังสถานสงเคราะห์ต่างๆ 5 แห่ง ก่อนถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง (เมียนมา) โดยมีตัวแทนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และพล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 คอยให้การดูแล

โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายองค์กรต่างเดินทางมาสังเกตการณ์

สำหรับเด็กทั้ง 126 คนมีอายุตั้งแต่ 7-16 ปี ถูกนำพาไปเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อ่างทอง โดยผู้อำนวยการโรงเรียนได้พยายามขอทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (G-code) แต่เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทองตรวจสอบเพราะเห็นจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้พบว่ามีการนำเด็กจากประเทศเมียนมาเข้ามาเรียนจำนวนมาก และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าว และเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทางทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่นำพาเด็กๆ มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการนำเด็กๆคืนให้ผู้ปกครอง ซึ่งยึดตามหลักฐานโดยต้องเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง จริงๆแล้วเด็กเหล่านี้สามารถเรียนหนังสือในไทยได้ แต่ควรเรียนในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน แต่ครั้งนี้กลับเอาไปเรียนที่ จ.อ่างทอง ดังนั้นจึงต้องดำเนินการ

นางเตือนใจ กล่าวว่า ต้นเหตุของปัญหาคือนโยบายของกระทรวงศึกษาที่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องนำเด็กจากที่อื่นไปเรียนเพื่อให้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนมากเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้นควรมีการทบทวนนโยบายนี้ ขณะเดียวกันเด็กๆ จากประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ต้องการหนีร้อนมาพึ่งเย็น เพราะประเทศเขาเกิดการสู้รบ ดังนั้นจึงควรร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้

นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่า เด็กต้องได้รับการคุ้มครองทั้งตามอนุสัญญาสิทธิเด็กและพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยต้องเด็กเหล่านี้ต้องไม่ถูกดำเนินคดี และไม่สมควรมีการผลักดันเด็กนอกประเทศเพราะต้องคำนึกถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อพบว่าเด็กเหล่านั้นเดินทางมาจากประเทศที่ตกอยู่ในสภาวะสงคราม ส่วนเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองก็ควรดำเนินการกับผู้ใหญ่ที่นำพาเข้ามา หรือแม้กระทั่งที่ทำเพราะกลัวโรงเรียนถูกปิดก็ตาม

“ขณะนี้ได้มีการร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ดังนั้น กสม.ควรเร่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ที่สำคัญคือควรให้การคุ้มครองเด็กชั่วคราวเพื่อไม่ให้มีการผลักดันเด็กออกไป อย่างไรก็ตามอนุกรรมการของสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินว่ามีเด็กตัว G อยู่ราว 8 หมื่นคน โดยพบมาใน 6 จังหวัด เช่น กทม. เชียงราย เชียงใหม่ ชลบุรี ดังนั้นจะมีวิธีการจัดการอย่างไรที่เหมาะสม” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าว

ด้าน ดร.ศรีประภา กล่าวว่า การผลักดันเด็กกลุ่มนี้ออกนอกประเทศถือว่าเป็นการขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐไทยเป็นภาคี รวมถึงหลักการกฎหมายจารีตประเพณีว่าด้วยการไม่ผลักดันกลับในกรณีที่เด็กเหล่านี้จะกลับไปสู่อันตราย ไม่ว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นใคร จะมีสถานะบุคคลอย่างไร ก็ต้องได้รับความคุ้มครอง และได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่เด็กๆ เหล่านี้เข้าไปเรียนในพื้นที่ชั้นในของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ดร.ศรีประภา ยืนยันว่า ไม่มีข้อห้ามใดๆในการให้เด็กเข้าไปเรียนที่ จ.อ่างทอง เพราะทั้งที่สมุทรสาคร กทม. ต่างก็มีเด็กๆที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเรียนอยู่ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด.