เมื่อวันที่ 10 ก.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกมิติของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของคนพิการตามกฎหมายและการจ้างงานคนพิการ รวมถึงการสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ พบว่าในปี 2565 มีสถานประกอบการทั่วประเทศ 14,444 แห่ง จ้างงานคนพิการแล้ว จำนวน 63,904 คน ขณะที่การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น ส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาให้คนพิการกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ รวมถึงสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งสานต่อนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยในปี 2566 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งเป้าหมายการจ้างงานคนพิการ 68,234 คน เพื่อสร้างรายได้และสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ ส่งเสริมให้คนพิการแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในการทำงาน

“พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ตามมาตรา 33 ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องรับคนพิการเข้าทำงานไม่น้อยกว่า 1 คน (100 : 1) เศษที่เกิน 50 ต้องรับคนพิการเพิ่ม 1 คน มาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ประสงค์จ้างคนพิการ ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น อาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีกรณีพิเศษ เช่น ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ” น.ส.รัชดา กล่าว