จากกรณี เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปพ.จชต.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุโรงงานพลุระเบิดที่ ต.มูโนะ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส จากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่ เบื้องต้นพบว่า มีการกระทำความผิดกฎหมายหลายบท อาจเข้าข่ายฟอกเงินโดยที่มีเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพลเข้าไปเกี่ยวข้อง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงสั่งการให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายชยพล สายทวี ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปพ.จชต.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน ปลอบขวัญให้กำลังใจ พร้อมแจ้งข้อห่วงใยจากอธิบดีฯ และผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผ่านพ้นห้วงวิกฤตดังกล่าวไปด้วยดี และได้มอบเงินสดพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ได้รับผลกระจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อีกทั้งยังได้รับฟังข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทหารตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่กรณีมีการกระทำความผิดในพื้นที่ที่เกี่ยวโยงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพล
โดยศปพ.จชต. ได้ตรวจสอบข้อมูลในชั้นต้นตามข้อสั่งการของอธิบดีฯ พบว่ามีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย การนำเข้า-ส่งออกสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และดอกไม้เพลิง ความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คาดว่าในวันจันทร์ที่ 7 ส.ค.นี้ จะได้ประมวลเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อมีคำสั่งให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทำการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน พร้อมทั้งขยายผลให้เห็นถึงการกระทำความผิดและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงจะพิจารณาดูว่าความผิดอาญาที่พบ จะเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ และหากเข้าองค์ประกอบจึงจะดำเนินการสู่ขั้นตอนแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนต่อไป
เมื่อถามว่าเหตุใดดีเอสไอจึงตั้งธงประเด็นการสืบสวนไว้ที่เรื่องกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นายชยพล เผยว่า เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีกลุ่มเครือข่ายและมีคนที่อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิดดังกล่าว เพราะคนในพื้นที่เห็นพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะนี้มานานแล้ว แต่เพียงไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการ และบุคคลที่เป็นเจ้าของโกดังอาจจะรับหน้าที่บริหารธุรกิจแทนใครอยู่หรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม หากอธิบดีฯมีคำสั่งให้ทำการสืบสวน ขั้นตอนของการสืบสวนนั้น ดีเอสไอจะต้องลงพื้นที่เกิดเหตุเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อนำเข้าประกอบสำนวนคดีได้ อีกทั้งจะต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้เพื่อขอข้อมูลเตรียมไว้ รวมถึงจะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD.) เพราะเราได้รับทราบข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ว่าอาจจะมีสารเคมี สารประกอบอื่นๆ หรือวัตถุระเบิดอยู่ด้วยหรือไม่ เราจะไม่ตัดประเด็นนี้ทิ้ง เพราะถ้าดูจากแรงกระทำของระเบิด มันมีแรงที่ถูกกดลงไปข้างล่าง ตนจึงมองว่าประทัดไม่น่าจะมีแรงกระทำขนาดนั้น
นายชยพล เผยอีกว่า กรณีถ้าดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษและมีการสืบสวน แสวงหา รวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นจนพบข้อเท็จจริงบางส่วน ก็จะต้องมีการออกหมายเรียกพยานแก่บุคคลใดๆ เพื่อเข้าให้ปากคำชี้แจง อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการ ผู้นำชุมชน ประชาชนในละแวกพื้นที่เกิดเหตุ เป็นต้นตามลำดับ และดีเอสไอจะไม่ดำเนินการซ้ำซ้อนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากสองสามีภรรยาเจ้าของโกดังได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและสำนวนคดีของตำรวจเสร็จสิ้นแล้ว แต่ดีเอสไอจะขยายผลไปที่กลุ่มเครือข่าย/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ปรากฏตามเส้นทางการเงินแทน
ทั้งนี้ หากมีการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษ กฎหมายจะตัดอำนาจของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และจะต้องโอนความรับผิดชอบการสอบสวน (สำนวนคดี) มาที่ดีเอสไอ รวมถึงสองสามีภรรยาเจ้าของโกดังด้วย ส่วนจะเป็นกองคดีหรือศูนย์ปฏิบัติการฯใดที่จะรับหน้าที่ดำเนินการทางอาญา จะขึ้นอยู่กับนโยบายและคำสั่งของอธิบดีดีเอสไอ.