เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนให้กำลังใจและชื่นชมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ในการประชุมสัมมนาพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ณ สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ผ่านระบบ Zoom Meeting

ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย สพฐ. วิถีใหม่วิถีคุณภาพของ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่มุ่งเน้นการปลดล็อกปรับเปลี่ยนและเปิดกว้าง โดยประการสำคัญ คือ สร้างความเสมอภาคเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ 1) เด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ 2) เด็กปกติ และ 3) เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งความสามารถของเด็กทั้งสามกลุ่มนี้ต้องได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้บรรลุขีดความสามารถเต็มศักยภาพ โดยมีกรอบความคิดที่สำคัญ คือ “การใช้พื้นที่เป็นฐานในการขับเคลื่อนคุณภาพ นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” เลขาธิการ กพฐ. จึงได้ให้โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษบ่มเพาะนักเรียนด้วยแนวคิด 1 คน 1 อาชีพ นำมาสู่การจัดการศึกษาให้ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ
.
ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติ คุณกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการศูนย์สวนนงนุชพัทยา มาให้ความรู้ในเรื่องเส้นทางชีวิตสู่ความสำเร็จ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สศศ. และคุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักน้ำ รักดิน มาฉายภาพการดำเนินงานของมูลนิธิรักน้ำ รักดิน (Earth Safe Foundation) โดยเน้นองค์ความรู้ ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ ด้านการเกษตรอินทรีย์วิถีใหม่ ตามแนวทางและกระบวนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำหรับผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และการรักษาคุณภาพมาตรฐานสู่ท้องตลาด มุ่งเน้นการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์วิถีไทยและศาสตร์พระราชา และจากช่องทางจำหน่ายสินค้าสู่ศูนย์การค้าไอคอนสยามหรือเครือเซ็นทรัล ซึ่งนับได้ว่าเป็นการยกระดับคุณภาพของนักเรียน และเกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่นักเรียนในสังกัด สศศ. ทุกคน
.
“ขอชื่นชมผู้เข้าประชุมสัมมนาฯ ทุกคน ที่มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาการศึกษา โดยการแสวงหารูปแบบวิธีการ สื่อการสอน และแหล่งเรียนรู้ที่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งในวันนี้ทุกคนก็จะได้เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ (9 ฐานการเรียนรู้) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สศศ. เพื่อไปสร้างเส้นทางแห่งความสำเร็จของนักเรียน ภายใต้การบูรณาการที่จะใช้บริบทพื้นที่ของสถานศึกษาเป็นฐานในการขับเคลื่อนคุณภาพ และเครือข่ายที่มีคุณภาพ เป็นการยกระดับการศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว