ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2566 ณ อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ปลัดจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วม พบปะประชาชนที่ต้องการมีบัตรประชาชน กว่า 312 คน และบุคคลอ้างอิงจากพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล เข้าร่วม 686 คน 


ในการ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงเป้าหมายของการขับเคลื่อนกิจกรรมว่า กิจกรรมวันนี้ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญของประชาชน ที่ไม่มีตัวตนทางทะเบียนราษฎรที่ขาดสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความมนุษย์บนผืนแผ่นดินไทยมาโดยตลอด ทำให้การดำเนินชีวิตทั้งสิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษา การทำมาหากิน การประกอบอาชีพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความลำบากยากจนหรือไม่มีความรู้และไม่เห็นความสำคัญของงานทะเบียนราษฎร ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 6-7 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนที่ไม่มีบัตรประชาชนรวมกว่า 2,000 คน ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องเร่งดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม DNA ทางสายเลือด เพื่อเป็นการคืนสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ให้กับประชาชน พร้อมดูแลทุกคนอย่างดีที่สุดเทียบเท่ากับคนทั่วไป 


ด้านชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เล่าถึงสาเหตุของการไม่มีบัตรประชาชนว่า เนื่องจากเมื่อก่อนอาศัยอยู่บิดาที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่อายุ 2 ขวบ จนตอนนี้อายุ 34 ปี ยังไม่ได้รับสิทธิใดๆ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่เคยเจ็บป่วยไม่เคยเดินทางไปรักษาโรงพยาบาล เพราะไม่มีเอกสารที่สามารถยืนยันตัวตนได้ แต่วันนี้รู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลไทยได้ดูแลทำให้มีบัตรประชาชนเหมือนคนทั่วไป และหลักจากนี้ หากได้รับบัตรประชาชนจะเดินทางไปหางานทำ เพื่อจะได้เพิ่มช่องทางรายได้ให้แก่ตนและครอบครัว


ทั้งนี้ ภายในกิจกรรมดังกล่าวฯ ศอ.บต. ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมความสัมพันธ์ทางสายโลหิตโดยมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย การซักประวัติ การตรวจ DNA จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม ตรวจสอบเอกสาร พิมพ์ลายมือ ตลอดจนถ่ายภาพ และหลังจากนั้นจะนำหลักฐานที่ได้รับมาทั้งหมดเข้าสู่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อมาเทียบกับบุคคลอ้างอิงถึงความสัมพันธ์กับคนที่ตกหล่น หากมีความสัมพันธ์ตรงกัน จะถือว่าบุคคลดังกล่าวมีสัญญาติไทยโดยแท้จริง