เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.11/2566  ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง นายนริศร ทองธิราช อดีต สส.สกลนคร เขต 3 พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากจำเลยถูกฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 66 สภาผู้แทนราษฎร ประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ในการพิจารณา มาตรา 6 และมาตรา 20 จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย และ สส. รายอื่นหลายใบอันเกินกว่าจำนวนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยและ สส. หรือสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมี และใช้ได้เพียงคนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนน โดยเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนน และกดปุ่มเพื่อแสดงตน แล้วลงมติคราวละหลายใบในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียง ในการลงคะแนนมติในแต่ละครั้ง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 192 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.36/2562 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน นับโทษจำคุกต่อในคดี อม.22/2565 ของศาลนี้   

จำเลยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 66 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องในสาระสำคัญอ้างเลขคดีและชื่อคู่ความของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม เมื่อฟ้องของโจทก์ระบุถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 แล้ว แม้บรรยายฟ้องอ้างเลขคดีและชื่อคู่ความของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคลาดเคลื่อน ก็เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ อีกทั้งในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามา ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังต่อหน้าจำเลยและทนาย

จำเลยให้การปฏิเสธ จากนั้นก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยมีรายละเอียดชัดเจนอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยเข้าใจข้อหา และพฤติการณ์การกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องแล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ยังบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม และมาตรา 26

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 16 เดือน ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.10/2566 ของศาลนี้ และคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงไม่อาจรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด จึงพิพากษายืน