จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คน เข้าไปเกี่ยวข้อง และปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ในราคา 153,000 บาท ในรูปแบบการประมูลไม้ในที่ราชพัสดุ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ส.ต.ง. ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ว่าที่ร้อยตรี สมบูรณ์ หัสดม ผู้อำนวยการ ป.ป.ช.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีไม้พะยูง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นั้น พนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง อ.ยางตลาด ได้สรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ แล้ว โดยลงรับสำนวนเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา เบื้องต้นได้มอบหมายฝ่ายสอบสวนประจำ ป.ป.ช. ตรวจสอบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ว่าที่ร้อยตรี สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า สำนวนไม้พะยูงหายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ พนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง ได้สรุปส่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 3 คน ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำหมู่บ้าน 5 คน ฐานความผิดทางอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต เมื่อรับสำนวนแล้ว ทาง ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ก็จะตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อตรวจสอบสำนวน โดยเบื้องต้นยึดตามสำนวนของพนักงานสอบสวน หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งจะเพิ่มเติม ก็จะได้ลงพื้นที่สอบพยานอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล หลักฐาน แล้วครั้งหนึ่ง เพราะเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องถึง 8 คน และเป็นความเสียหายของรัฐ ทาง ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ จะเร่งรัดไต่สวน เพื่อสรุปสำนวนให้เร็วที่สุด ที่จะสามารถส่งอัยการฟ้องดำเนินคดีทันทีเมื่อไต่สวนเรียบร้อย

ขณะที่วานนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ มีคำสั่งเด้ง “ผอ.ศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์” ไปประจำ สจป.7 ขอนแก่น พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการป่าไม้ เอี่ยวปมไม้พะยูงของกลางหาย-ประเมินราคาไม้พะยูง 22 ต้น โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ต่ำกว่าความเป็นจริง แหล่งความด้านความมั่นคง ระบุว่า ขณะนี้ในสังกัดส่วนกลางของแต่ละหน่วย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ตรวจสอบการซื้อขายไม้ย้อนหลัง ตามระเบียบของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีการซื้อขายในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ย้อนหลัง เนื่องจากพบว่า ตั้งแต่ปี 2562 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 มีการประมูลไม้พะยูงโรงเรียนมากกว่า 10 แห่ง กับปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงของกลุ่มมอดไม้ จากนั้นก็จะทำการเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และดำเนินการประมูลไม้ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าราคาของกรมป่าไม้ประเมิน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบย้อนหลังการซื้อขายไม้พะยูง ซึ่งในส่วนของประชาชนและครูที่ไม่เห็นด้วยในพื้นที่ ก็ได้ส่งคลิป ภาพเคลื่อนไหว ที่บันทึกเอาไว้จากหลายโรงเรียนส่งมายังเจ้าหน้าที่แล้ว

แหล่งข่าวระบุว่า ความนิยมของไม้พะยูง ปลายทางส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าชาวจีน รับซื้อให้ราคาที่สูง เมื่อสามารถนำออกนอกประเทศฝั่งประเทศลาว การลักตัดหรือการประมูลขายจึงเป็นสิ่งล่อใจ โดยเฉพาะช่องว่างทางกฎหมายสำหรับข้าราชการบางคน ที่มีพฤติกรรมนอกรีต ถือเป็นขนมหวานในการหาประโยชน์ ยกตัวอย่างไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี พ่อค้าไม้พะยูงมาแบบยิ่งใหญ่ ถือใบเสร็จและเอกสารข้อตกลงระหว่าง ผอ.โรงเรียน-เขตพื้นที่การศึกษา เขต 2-เจ้าหน้าที่ป่าไม้-ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่ตกลงประมูลขาย นำเลื่อยยนต์มาตัดต้นไม้พะยูง ตัดเสร็จก็ยกใส่รถสิบล้อ จำนวน 17 ต้น เหลือ 5 ต้น

สำหรับชาวบ้านที่อนุรักษ์ เท่าที่สอบถาม บอกเลยก็น้ำตาไหล เจ็บแค้นลึกในใจ หลายคนสาปแช่งก็มี เพราะเป็นต้นไม้ที่บรรพบุรุษปลูกและรักษาสืบต่อกันมา เมื่อเริ่มโตนักเรียนที่เรียนหนังสือก็ได้ใช้เป็นร่มเงาไม้ แต่ก่อนรั้วโรงเรียนจะเป็นลวดหนาม แต่เมื่อมีข่าวว่าแก๊งมอดไม้จะตัด ชาวบ้านก็นำเงินมาบริจาคสร้างเป็นกำแพงสูง เพื่อป้องกันโจรมอดไม้ แต่กลับเป็นว่า ไม้พะยูงโรงเรียน กลับถูกคำสั่งอนุญาตให้ตัดด้วยฝีมือข้าราชการของรัฐ จึงถือเป็นความเจ็บปวดของคนในชุมชนที่จะลามไปถึงความเชื่อมั่นในการทำคดี เพราะเริ่มมีข่าวแล้วว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในอำนาจของผู้มีอำนาจ อีกไม่นานเรื่องก็เงียบ เป็นมวยล้มต้มคนดู เป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ส่วนเส้นทางการเคลื่อนย้ายไม้พะยูง จำนวน 17 ต้น รายงานแจ้งว่า ภายหลังจากชุดตัดยกขึ้นรถสิบล้อเต็มคันรถ ไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา ก็ถูกนำไปพักไว้ในเขตพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ก่อนจะทำการขนย้ายออกต่างประเทศด้าน สปป.ลาว ส่งต่อถึงมือพ่อค้าชาวจีนต่อไป