สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า นายราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กล่าวถึงการที่บริษัทไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ปล่อยน้ำบำบัดออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ว่าระดับนิวไคลด์กัมมันตรังสีของทริเทียมอยู่ในระดับ “ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่คาดการณ์ไว้มาก” บ่งชี้ว่า น้ำที่มีการระบายออกมาจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย
อย่างไรก็ดี ไอเออีเอยืนยัน การสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป จนกว่ากระบวนการปล่อยน้ำทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะใช้เวลานานประมาณ 30 ปี สำหรับน้ำที่มีปริมาณมากกว่า 1.3 ล้านตัน
#Japan starts releasing treated water from #Fukushima Daiichi nuclear power plant today.
— Rafael MarianoGrossi (@rafaelmgrossi) August 24, 2023
Stay informed with real time updates on the process directly from @IAEAorg's dedicated page: https://t.co/wfoBNqfvUm
pic.twitter.com/G8wdjH3M9m
ทั้งนี้ ไอเออีเอมอบเอกสารรับรองขั้นสุดท้าย ให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ว่าน้ำที่จะมีการบำบัดออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ผ่านกระบวนการกรองด้วยเครื่องมือซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดสารอันตรายลงไม่น้อยกว่า 40% ลงสู่ทะเล “เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ” และ “จะมีผลกระทบทางรังสีวิทยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนกรานว่า กระบวนการยุติการดำเนินงานทั้งหมดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ “ยังต้องใช้เวลานานอีกหลายทศวรรษ” แต่การระบายน้ำ “เป็นหนทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเลื่อนไม่ได้อีกแล้ว” อีกทั้ง “เป็นวิธีการซึ่งเป็นไปได้มากที่สุด” ในการระบายน้ำที่เต็มอ่างเก็บ 1,020 แห่ง ซึ่งเต็มความจุเมื่อปี 2565
ขณะที่เทปโกยืนยันการใช้เครื่องกรองน้ำเสียประสิทธิภาพสูง เพื่อคัดแยกสารอันตรายออกจนเกือบหมด คงเหลือเพียง “ทริเทียม” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ต้องเป็นการบริโภค “ปริมาณมหาศาล” จึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
นอกจากนี้ เทปโกเปิดเผยผลการวิเคราะห์ของตัวเอง ว่าน้ำในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามีระดับกัมมันตภาพรังสีต่ำกว่า 1,500 เบคเคอเรลต่อลิตร อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของปริมาณกัมมันตรังสีในน้ำดื่มไว้ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร และปริมาณสารทริเทียมในน้ำไม่ควรเกิน 60,000 เบคเคอเรลต่อลิตร.
เครดิตภาพ : AFP