เมื่อวันที่15 ก.ย. ที่ชมรมทนายความจิตอาสา ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี นายเกียรติคุณ ต้นยาง หรือ ทนายโป้ง ประธานชมรมทนายจิตอาสา ได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.เพ็ญพิไล บุญเสร็จ อายุ 28 ปี อาชีพผู้ช่วยสัตวแพทย์ ว่า ได้ถูกนายจ้างไล่ออกจากงานในโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี สาเหตุจากลางานไปฝากครรภ์วันที่ 6 ก.ย. เนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง แต่โดนใบเตือนจากที่ทำงานส่งมาในวันที่ 13 ก.ย. 64 และถูกนายจ้างส่งใบไล่ออกให้ในวันที่ 14 ก.ย. จึงเดินทางมาพบทนายโป้งเพื่อขอความเป็นธรรม

น.ส.เพ็ญพิไล กล่าวว่า ตนพึ่งรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ จึงขอลาไปหาหมอ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทุกอย่างเรียบร้อยดี ถัดมาวันที่ 11 ก.ย. เกิดมีอาการแพ้ท้องตอนเช้า จึงขอลาต่อ 2 วัน และเดินทางไปโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ตนจึงกลับเข้าไปทำงานวันที่ 13 ก.ย. ทางหมอที่โรงพยาบาลเรียกเข้าไปพบ พร้อมด้วยผู้จัดการและให้เซ็นใบเตือนและเลื่อนการประเมินผ่านงานให้ตน ทั้งๆ ที่ตนทำงานเกิน 120 วันแล้ว ตนจึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ตนตั้งท้องอยู่ จึงเข้าไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน หลังจากกลับเข้ามาทางผู้จัดการที่เป็นสามีของคุณหมอเข้ามาชี้หน้าด่าและไล่ตน ก่อนทางโรงพยาบาลส่งใบลาออกให้ตนวันที่ 14 ก.ย. จึงอยากเข้ามาหาทนายเพื่อขอความเป็นธรรมของตนและลูกในท้อง

น.ส.เพ็ญพิไล กล่าวต่อว่า อีกสาเหตุที่ตนรับไม่ได้คือเดือนหน้าหมอนัดตนให้ไปตรวจท้อง แต่ทางโรงพยาบาลสัตว์ที่ตนทำงานอยู่ไม่ให้ไป ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเพราะอะไร ไม่เคยมีปัญหากับเขามาก่อน ตอนนี้ไปยื่นเรื่องที่กรมแรงงานแล้ว ทางกรมแรงงานบอกว่าจะเรียกคุณหมอเข้ามาพบอีกที ที่ผ่านมาถ้าวันไหนที่ตนลา ตนจะบอกทุกครั้งตามกฏของโรงพยาบาล ตอนนี้ก็ต้องกลับไปทำงานต่อเพราะยังไม่ได้เซ็นใบลาออก แต่ทางผู้จัดการบังคับให้เซ็นและข่มขู่ว่าถ้าไม่เซ็นจะแจ้งหนังสือให้พ้นสภาพการทำงาน ตนรู้สึกว่ามันไม่ดีที่มารังแกคนท้องแบบนี้ ก็ยังห่วงลูกด้วยเพราะตนเครียดมาก

ทนายโป้ง กล่าวว่า เบื้องต้นตนให้ข้อแนะนำตามกฏหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 4.3 ที่บัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงด้วยเหตุการตั้งครรภ์ จะไม่สามารถเลิกจ้างได้ ถ้าในเวลางานมีปัญหาของการแพ้ท้องมีมาตรา 4.2 ระบุว่า ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการทำงานแพ้ท้อง สามารถบอกนายจ้างขอเปลี่ยนหน้าที่ในการทำงานได้ เพื่อทำงานให้เหมาะสม ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะผิดกฎหมายในมาตรา 104.4 ห้ามไม่ให้นายจ้างฝ่าฝืนในมาตรา 4.2 และ 4.3 ทั้งหมดนี้มีโทษทางอาญาจะต้องระวังจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

“อยากให้นายจ้างและลูกจ้างเข้ามาคุยกันในฐานะที่ร่วมงานกันมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และผ่านการทดลองรับบรรจุเป็นพนักงานของที่นี่แล้ว สิ่งที่น้องเขาไปร้องที่แรงงานยังคงไม่ครบถ้วนจะให้น้องไปยื่นเรื่องเพิ่มเติม เพราะยังขาดสาระสำคัญอยู่ ตอนนี้อยากให้นายจ้างเข้ามาคุยเพราะน้องท้องอยู่ ตนเห็นใจเป็นอย่างมากเพราะอาจเกิดภาวะต่างๆ ทั้งจิตใจและลูกในครรภ์” ทนายโป้ง กล่าว