สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) รายงานดัชนีราคาน้ำตาลประจำเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. ถือเป็นสถิติสูที่สุด นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2553


ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกแพงขึ้น เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก 2 หรือ 7 ปี และแต่ละครั้งจะกินเวลาระหว่าง 7-12 เดือน

อย่างไรก็ตาม เอลนีโญรอบนี้ซึ่งเริ่มเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งกว่าปกติ กระทบการเพาะปลูกของแหล่งปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลแห่งสำคัญของโลก โดยเฉพาะอินเดียและไทย


อนึ่ง ราคาขายน้ำตาลในตลาดท้องถิ่นอินเดีย ณ ช่วงหนึ่งของเดือนที่แล้ว เป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบัน ราคาและโควตาการซื้อขายน้ำตาลแทบทั้งหมดในอินเดีย อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ขณะที่กระทรวงเกษตรยังคงเชื่อมั่นว่า แม้ปริมาณน้ำฝนปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ผลผลิตอ้อยปีนี้จะยังคง “อยู่ในเป้าหมาย”


ขณะที่ปริมาณน้ำตาลสำรองของอินเดียปีนี้ อยู่ที่อย่างน้อย 10.8 ล้านตัน ตามการประเมินของภาคเอกชน แต่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลของประชาชนในประเทศอยู่ที่ราว 27 ล้านตันต่อปี และช่วงเทศกาลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องแทบทั้งปี จะมีการใช้น้ำตาลมากกว่าปกติเพื่อทำขนม


ทั้งนี้ อินเดียเคยใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เมื่อปีที่แล้ว เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศ และเพื่อบริหารจัดการปริมาณน้ำตาลสำรอง เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES