ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับตา หลังกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์อื่น ๆ ได้ระดมยิงจรวจใส่อิสราเอลกว่า 2,000 ลูก โดยที่ภายหลัง ทางกองทัพอิสราเอลได้ระบุว่า ราว 90% ของจรวจที่ยิงเข้าไปนั้นถูกสกัดไว้โดยระบบขีปนาวุธป้องกันที่สำคัญของประเทศที่มีชื่อว่า Iron Dome จนเกิดเป็นความสงสัยของหลายๆคนว่า “Iron Dome” คืออะไรกันแน่ เหตุใดถึงสามารถสกัดจรวดที่ถล่มเข้ามาได้?

Iron Dome คืออะไร?
สำหรับ “Iron Dome” เป็นเทคโนโลยีดังจับหรือสกัดกั้นเหนือน่านฟ้า ถูกออกแบบมาสำหรับการโจมตีทางอากาศระยะใกล้ จากพื้นสู่อากาศซึ่งรวมถึงเรดาร์และขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir (Tamir interceptor missiles) ที่ติดตามและต่อต้านจรวดหรือขีปนาวุธใดๆ ที่มุ่งเป้าไปที่เป้าหมายของอิสราเอล ใช้สำหรับตอบโต้จรวด ปืนใหญ่และปืนครก (C-RAM) เช่นเดียวกับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานไร้คนขับด้วย

จุดเริ่มต้น Iron Dome
Iron Dome มีจุดกำเนิดมาจากครั้งที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธ “เฮซบอลเลาะห์” ของเลบานอน ในปี 2006 ซึ่งตอนนั้นมีการยิงจรวจโจมตีอิสราเอลหลายพันลูก สร้างความเสียหายรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและต้องอพยพผู้คนจำนวนมาก

หลังจากนั้น อิสราเอลได้สั่งพัฒนาระบบขีปนาวุธป้องกันภัยขึ้นมาใหม่ โดยในปีต่อมาอิสราเอลประกาศว่า บริษัทของอิสราเอลคือ Rafael Advance Systems ที่ดำเนินการโดยรัฐจะสร้างระบบป้องกันทางอากาศใหม่เพื่อปกป้องเมืองและผู้คน ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Israel Aerospace Industries โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ

Iron Dome ถูกนำมาใช้ในปี 2011 ในขณะที่ Rafael อ้างว่ามีอัตราความสำเร็จมากกว่า 90% โดยมีการสกัดกั้นมากกว่า 2,000 ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าอัตราความสำเร็จสูงกว่า 80% Rafael กล่าวในเว็บไซต์ว่าสามารถ “ปกป้องกองกำลังรวมถึงฐานปฏิบัติการล่วงหน้า (Forward Operating Base, FOB) และพื้นที่ในเมืองจากภัยคุกคามทางอ้อมและทางอากาศในวงกว้าง”

ปัจจุบัน Iron Dome ถือว่าเป็นหนึ่งในระบบป้องกันการโจมตีที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในโลก โดยมีการทำงานที่ใช้เรดาร์เพื่อบ่งชี้และทำลายภัยที่เข้ามา ก่อนที่มันจะสร้างความเสียหายเกิดขึ้น

การทำงานของ Iron Dome
ตัวระบบของ Iron Dome สามารถทำงานได้ในทุกสภาพลมฟ้าอากาศ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อต่อสู้กับอาวุธพื้นฐานพิสัยการยิงสั้น คือระหว่าง 4-70 กม. ตัวระบบสามารถตรวจรู้ได้ว่าจรวดที่ยิงเข้ามานั้นจะยิงตกลงจุดไหน ทำให้สามารถประเมินได้ว่าการโจมตีที่โจมตีเข้ามานั้นเป็นอันตรายหรือไม่

Iron Dome สามารถทำการยิงได้ทั้งแบบสั่งการยิงด้วยคนหรือแบบอัตโนมัติ โดยเมื่อวางและติดตั้งระบบเสร็จ ผู้ควบคุมจะต้องกำหนดว่าพื้นที่ใดคือพื้นที่ที่ต้องการป้องกัน และพื้นที่ใดสามารถปล่อยให้ภัยคุกคามตกลงมาได้ เพราะ Iron Dome จะคำนวณวิถีของจรวดที่บินเข้ามา ถ้าตกนอกพื้นที่ที่ป้องกันก็จะไม่สั่งยิงจรวดเพื่อประหยัดจรวด

ขอบคุณภาพจาก thaiarmedforce

เมื่อเรดาร์ EL/M-2084 ตรวจจับเป้าหมายที่เข้ามายังรัศมีตรวจจับได้ ระบบจะแจ้งเตือนและส่งข้อมูลไปยังหน่วยควบคุม ซึ่งโดยปกติแล้วจรวดหรือลูกปืนใหญ่จะเคลื่อนอที่เป็นวิถีโค้ง (Projectile) หน่วยควบคุมจะตรวจจับวิถีของจรวดที่เข้ามา และคำนวณคาดการณ์ว่าวิถีโค้งซึ่งคือการเดินทางตลอดเส้นทางของจรวดเป้าหมายจะเป็นแบบใด ด้วยวิธีจะทำให้ทราบทั้งตำแหน่งที่จรวดจะตก และทราบตำแหน่งที่จรวดถูกยิงออกมาได้

เมื่อจรวด Tamir เดินทางเข้าใกล้เป้าหมาย จะเปิดเลเซอร์ที่ส่วนหัวเพื่อวัดระยะของตนเองกับจรวดเป้าหมาย เมื่อ Tamir เดินทางเข้าใกล้เป้าหมายมากพอที่แรงระเบิดจะสามารถทำลายเป้าหมายได้แล้ว ก็จะจุดตัวเองให้ระเบิดด้วยการจุดดินระเบิดพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับการส่งแรงระเบิดไปยังเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้จรวดหรือลูกปืนใหญ่เป้าหมายระเบิดหรือถูกทำลายกลางอากาศ เป็นอันจบกระบวนการการทำลายเป้าหมาย 1 เป้าหมาย แต่ขั้นตอนทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติและใช้เวลาไม่กี่วินาทีนับจากตรวจจับเป้าจนถึงเป้าหมายถูกทำลาย ด้วยประสิทธิภาพของระบบตรวจจับ Algorithm และระบบประมวลผลขั้นสูงที่ทำการตัดสินใจหลายพันล้านครั้งในหนึ่งวินาที

โดย Iron Dome สามารถป้องกันพื้นที่ได้ครอบคลุม 150 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหมายถึงเมื่อเทียบง่าย ๆ แล้ว Iron Dome 1 ระบบจะสามารถป้องกันอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งเมือง หรือป้องกันพัทยาได้ 3 เมืองพัทยา แต่ถ้าต้องการป้องกันกรุงเทพมหานครทั้งเมือง จะต้องใช้ Iron Dome ราว 10 ระบบ (ซึ่งเป็นการเทียบคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะพิสัยการป้องกันของ Iron Dome เป็นวงกลม แต่รูปร่างของจังหวัดนั้นไม่เป็นวงกลม และในการวางระบบจริงจะต้องมีการวางให้พิสัยการป้องกันเหลื่อมกัน)

จุดอ่อนของเทคโนโลยี “Iron Dome”
เจ้า Iron Dome สามารถสกัดกั้นการโจมตีได้มากเท่าที่ตัวระบบรองรับ (เครื่องยิงสกัด) หากฝ่ายตรงข้ามใช้การโจมตีที่มากกว่า ระบบก็จะไม่สามารถสกัดกั้นได้ทั้งหมด

ค่าใช้จ่ายของ “Iron Dome”
Iron Dome ใน 1 ระบบมีราคาขั้นต่ำ 50 ล้านเหรียญจนถึง 100 ล้านเหรียญ ซึ่งหมายถึงการจัดหา 1 กองพันต้องใช้เงินมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทขึ้นไป ส่วนตัวจรวด Tamir ก็มีราคาราวนัดละ 1.3 ล้านบาท เปรียบเทียบกับจรวด Qassam ของทางกลุ่มฮามาสที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ไม่กี่หมื่นบาท ดังนั้นการยิงจรวด Qassam หนึ่งครั้งราว 40 นัดจะมีต้นทุนการยิงของกลุ่มฮามาสอยู่ที่ราว 1.6 ล้านบาท แต่ส่วนของต้นทุนที่อิสราเอลต้องจ่ายเพื่อป้องกันตนเองด้วยการยิง Iron Dome กว่า 52 ล้านบาทเลยทีเดียว..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @CNN,@thaiarmedforce,@แม่หนูเป็นวิศวะ