เมื่อวันที่ 2 พ.ย. หลังจากที่เดลินิวส์และมติชน สื่อสารมวลชนชั้นนำระดับประเทศ ร่วมทำ “เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง’66” จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และสะท้อนความต้องการประชาชนอย่างแม่นยำ ทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดทำ โพลเดลินิวส์ x มติชน: รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยทำการสำรวจ หรือโหวตระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ และเครือมติชน กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ทุกระดับอายุ อาชีพ การศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 42,848 โหวต

โดยเป็นการรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เป็นเสียงธรรมชาติ เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นความหมายที่แท้จริงของสาธารณะ การจัดทำโพลในครั้งนี้ เดลินิวส์และมติชน ได้อาสาเดินหน้าถามประชาชนว่าอะไรคือปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้รัฐบาลรับทราบ นำไปจัดการนโยบายให้ตรงจุด และประเทศจะไปต่อได้ โดยได้สำรวจใน 2 ประเด็นหลักระหว่างเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม หรือเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง

จากการสำรวจดังกล่าวมีการแยกคำถามออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ ข้อที่ 1. เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม และ ข้อที่ 2 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ–ปากท้อง ร้อยละ 60.2 ส่วนเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคมอยู่ที่ร้อยละ 39.8

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดของการโหวตในแต่ละหัวข้อดังนี้ ข้อที่ 1. เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม จากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ร้อยละ 21.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 20.4 ปฏิรูปกองทัพ ร้อยละ 18.8 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร้อยละ 17.2 รัฐสวัสดิการ ร้อยละ 16.5 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 5.6 ข้อที่ 2. เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง จากการสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ร้อยละ 25.4 แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ร้อยละ 20.6 แก้ปัญหาการเกษตร ร้อยละ 16.9 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ร้อยละ 15.6 เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี ร้อยละ 15.1 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 6.3

สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมโหวตออนไลน์ โพลเดลินิวส์ x มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? จำนวน 41,455 ราย แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 63.7 เพศหญิง ร้อยละ 33.2 และไม่ระบุเพศ ร้อยละ 3.1 โดยมีอายุ 51 ปีขึ้นไปร้อยละ 35.8 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 22.7 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 20.1 อายุ 21-30 ปี ร้อยละ 16.9 และ อายุ 18-20 ปี ร้อยละ 4.5 ส่วนระดับการศึกษาจากการสำรวจพบว่า การศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 51.2 ต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 28.1 ปริญญาโท ร้อยละ 17.7 และปริญญาเอก ร้อยละ 3 ส่วนอาชีพที่ร่วมโหวตในครั้งนี้ พบว่า พนักงานบริษัทร่วมโหวตสูงสุดที่ร้อยละ 25.3 ค้าขาย/ประกอบกิจการส่วนตัว ร้อยละ 19.0 ราชการ/ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.5 อื่นๆ ร้อยละ 16.7 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 10.0 นักศึกษา ร้อยละ 6.0 และเกษตรกร ร้อยละ 5.5

ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าผู้ร่วมโหวตมีรายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท เป็นผู้ร่วมโหวตสูงสุดร้อยละ 23.5 รองลงมาได้แก่ รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.0 รายได้ต่อเดือน 50,001 บาท ขึ้นไป ร้อยละ 19.3 รายได้ต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 17.0 รายได้ต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 12.2 และ รายได้ต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 8.0 โดยมีผู้ร่วมโหวต 10 อันดับแรกตามทะเบียนบ้าน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 29.3 จังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 4.8 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 3.5 จังหวัดปทุมธานี ร้อยละ 3.3 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 3.1 จังหวัดสมุทรปราการ ร้อยละ 2.8 จังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 2.6 จังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 2.5 จังหวัดสงขลา ร้อยละ 1.5 และจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยละ 1.4

“ผู้บริหารเดลินิวส์” ขอบคุณทุกเสียงโหวต

นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า ขอบคุณทุกเสียงโหวต มั่นใจผลโพลจะเป็นเสียงสะท้อนดังก้องไปถึงรัฐบาล เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดลำดับการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ หลังปิดการทำโพลในวันที่ 31 ต.ค. 66 แม้จะไม่ได้จำนวนผู้ทำโพลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนในหลากหลายช่วงวัยและหลากหลายสาขาอาชีพจากทั่วประเทศจริงๆ หลังจากนี้ทีมนักวิชาการที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ตามหลักวิชาการเพื่อสรุปผลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และผลโพลที่ได้จะกลายเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนไปสู่รัฐบาลเพื่อใช้ประโยชน์และเป็นหนึ่งในข้อมูลสำหรับจัดลำดับการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป

“ในฐานะตัวแทนกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ต้องขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่ร่วมทำโพลเดลินิวส์ X มติชน ในครั้งนี้ ทุกเสียงของท่านมีความหมาย และจะสะท้อนไปถึงรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหรือเดินหน้านโยบายอะไรเร่งด่วนที่สุด จากข้อมูลโพลสรุปได้ว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง มากกว่าเร่งแก้ปัญหาการเมืองและปฏิรูปโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะเรื่องลดน้ำ ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน ที่ถูกโหวตมาเป็นอันดับแรก ต้องยอมรับว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมากและเป็นวงกว้าง  หวังว่ารัฐบาลจะนำเสียงสะท้อนเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์และเป็นแนวทางเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป ขอบคุณครับ”

รัฐบาลต้องรับฟังเสียงสะท้อน

ด้าน นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึง และผู้ทำโพลเองต้องยอมรับ ก็คือจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้มีจำนวนน้อยกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในการทำโพลเลือกตั้ง 2566 ขณะที่ในการทำโพลสองครั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม มีผู้มาตอบแบบสอบถามประมาณ 7-8 หมื่นรายต่อครั้ง โพลรัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? จะมีผู้ตอบแบบสอบถามราว 4 หมื่นกว่าคน หรือลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า คนอีกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป คือ คนที่ไม่ได้เลือกพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ หรือไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น ผลสะท้อนแรกที่ปรากฏชัดเจนในโพลครั้งนี้ คือ รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงาน เร่งกอบกู้ความหวังและความศรัทธาของผู้คน เพื่อดึงให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากมีส่วนร่วมกับรัฐบาล ได้รู้สึกว่าตนเองก็เป็นเจ้าของรัฐบาลเศรษฐาเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อผลโพลระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ตลอดจนประเด็นการแก้ปัญหาหนี้สิน รัฐบาลก็จำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลโพลในส่วนการแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม จะพบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน นี่จึงเป็นเสียงสะท้อนอีกฟากที่รัฐบาลไม่ควรละเลย

“แม้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4 หมื่นรายในโพลนี้จะสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง เป็นหลัก ซึ่งดูจะตรงกับโจทย์ใหญ่ในการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา อย่างไรก็ดี จะพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ไม่ได้คาดหวังหรือให้ความสำคัญกับเรื่องการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทมากนัก ทั้งๆ ที่นี่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล อาจเป็นเพราะว่าประชาชนมีความไม่มั่นใจกับทิศทางของนโยบายดังกล่าวที่ยังมีความสับสน หรือผู้ตอบแบบสอบถามอาจไม่เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบนี้ จะเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้จริง”

นายปราปต์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับโพลในครั้งนี้ ยังจะมีเวทีวิเคราะห์โพลเชิงลึกในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ซี่งจะมีรายละเอียด และความน่าสนใจอีกมาก เพราะจะมีนักวิชาการและสื่อมวลชนมาร่วมวิเคราะห์โพลจากหลากหลายแง่มุม

ไม่ว่าจะเป็น ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ที่จะมาวิเคราะห์สถิติตัวเลขต่างๆ ในภาพรวม ในฐานะที่เคยเป็นผู้วิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้งเดลินิวส์ x มติชน มี ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่จะมาวิเคราะห์นัยของโพลนี้ผ่านมิติทางสังคมและทัศนะของประชาชนนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่จะมาวิเคราะห์ผลโพลผ่านมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่จะมาวิเคราะห์ผลโพลด้วยแง่มุมทางรัฐศาสตร์ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่จะมาร่วมมองผลโพลที่เกิดขึ้นด้วยสายตานักวิเคราะห์ข่าวการเมือง

มีมิติที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น

ขณะที่ นายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร ผอ.กลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่เปิดให้ทำโพลแสดงความคิดเห็น นอกจากจะมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาร่วมตอบโพลผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีนักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ ตลอดจนคนดังในสังคมจากทุกวงการมาร่วมทำโพลอย่างต่อเนื่อง เมื่อครบระยะเวลาในการทำโพล มีการสรุปข้อมูลออกมาพบว่ามีมิติที่น่าสนใจในหลายจุด โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง กับปัญหาการเมือง-โครงสร้าง ผู้ตอบโพล 60% เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องก่อน โดยเฉพาะการลดราคาค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลโพลในประเด็นการแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ที่ผู้ตอบโพล 21.4% เห็นว่า รัฐบาลควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ขณะที่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปกองทัพ เป็นลำดับรองลงมา

“จะเห็นได้ว่า ผลสรุปจากโพลในด้านการเมืองนั้นสอดคล้องกับกระแสความสนใจต่อประเด็นข่าวสำคัญทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างและมีมุมมองที่ต่างกันพอสมควรระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องเผชิญความท้าทายและถูกตั้งคำถามทั้งในการประชุมสภา และในเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลโพลในหลายๆ ประเด็นน่าจะสะท้อนความคิด ความรู้สึกของประชาชนที่ตั้งใจเข้ามาทำโพลกับมติชน-เดลินิวส์ หรือเป็นปรอทวัดอุณหภูมิของประเด็นต่างๆ ได้เป็นอย่างดีว่า อะไรร้อนแรงอยู่ในความสนใจและความคาดหวังของประชาชนในเวลานี้ และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งทางรัฐบาลเองที่จะนำไปใช้เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการ/เสียงสะท้อนของประชาชนได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น” นายสมปรารถนา กล่าว

จับตาวิเคราะห์เจาะลึกผลโพล 13 พ.ย.นี้

ส่วนมุมมองของ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้กล่าวถึงภาพรวมผลโพลในครั้งนี้ว่า เมื่อเทียบกับโพลครั้งที่ 1 และ 2 จำนวนผู้ทำโพลลดลงอย่างน่าสนใจ มีนัยสำคัญมากเพราะว่าลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องลงไปดูในรายละเอียดข้อมูลหลังบ้านเพิ่มเติมในจุดนี้ว่า ใครที่ลดลง สาเหตุที่ผลโพลมีคนร่วมแสดงความคิดเห็นน้อยลงอาจจะตอบได้ว่าคนอาจจะเซ็ง ไม่มีบรรยากาศของการอยากดีเบต ไม่มีบรรยากาศของการอยากคุยเรื่องการเมือง ในช่วงที่รัฐบาลเขาได้รับเลือกตั้ง หรืออาจจะเป็นไปได้ว่ายังรอดูท่าทีของรัฐบาลว่าเป็นอย่างไรเพราะคนรู้สึกว่าในแง่ความเป็นจริง รัฐบาลชุดนี้เปลี่ยนเฉพาะนายกฯ แต่องคาพยพทั้งหลายก็ยังอยู่ อาจจะเพิ่มเติมก็คือทางทีมเพื่อไทยเป็นความหวังเล็กๆ คนสองคนว่ามันจะเปลี่ยนได้ ถ้าเราดูอันที่เป็นช้อยส์ที่เกิดขึ้นก็คือคำตอบออกมาเป็น 60/40

60 ก็คือเศรษฐกิจ 40 ก็คือการเมือง ในแง่นี้หมายความว่าผู้คนก็ยังไม่ได้ละทิ้งความสนใจในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ยังสนใจในเรื่องการเมืองอยู่แต่อาจจะยังไม่ได้ฟู่ฟ่า แน่นอนว่าการที่ได้รัฐบาลเพื่อไทย ตั้งความหวังไว้ในเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าดูในตัวเลขแล้วคะแนนไม่ต่างกันมาก แต่มันทำให้เราเห็นว่าถ้ากินดีอยู่ดี การเมืองก็ดี ผู้คนบรรยากาศ ความรู้สึก ก็อาจจะดีขึ้น อยากจะทำให้เรื่องเศรษฐกิจให้สำเร็จ พอทำเรื่องเศรษฐกิจสำเร็จเรื่องการเมืองก็ค่อยว่ากัน อันนี้คือจากผลโพล

อันที่สองก็คือ ตัวเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าจะดูรวมๆ กันแล้ว ผลออกมาว่าคนเน้นไปที่การขอลดรายจ่าย ตอนนี้ยังดูว่าการเพิ่มรายได้อาจจะเป็นทางออกที่ยังไม่กว้างขวางมากนัก แปลได้ว่ายังไม่เห็นว่าจะเพิ่มรายได้ได้อย่างไร รู้แต่ว่าจะใช้เงินน้อยลงอย่างไร ส่วนนโยบายเด็ดๆ อย่างเช่นดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กลับไม่ได้รับความสนใจจากผลโผลนี้มากนัก อาจจะเป็นไปได้ว่า ถ้าดูคร่าวๆ คนที่มาตอบคำถามมีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไปรวมกันมากกว่า 25% เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ตัวประชากรของโพลเราเป็นโพลชนชั้นกลางระดับบน แต่ก็ไม่ได้ขาดลอยขนาดนั้นเพราะว่าตัวคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นก็อยู่ที่อันดับ 2 ถึง 20% พูดง่ายๆ ว่ามันก็ประมาณ 25-25-25 ที่ไม่ต่างกันมากนัก พูดอย่างตรงไปตรงมาคือทุกชนชั้นทุกรายได้ก็สนใจการเมือง สนใจเศรษฐกิจ แต่ว่านโยบายที่รัฐบาลคิด นโยบายที่เด่นๆ ที่เคยหาเสียงไว้กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก คนก็ยังอยากให้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ลดค่าน้ำ ค่าไฟ แก้ปัญหาปากท้อง หนี้สิน ทั้งหมดเป็นพวกลดรายจ่ายทั้งนั้น

“สำหรับการเร่งแก้ปัญหาการเมือง ความน่าสนใจคือ ผลมันออกมาเท่าๆ กันระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญ กับปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถ้าพูดไปแล้วสองตัวนี้ มีลักษณะเหมือนกันคือเรื่องของกฏหมาย คือเรื่องของการปฏิบัติและการเลือกปฏิบัติ แสดงว่าคนยังมีความรู้สึกว่า คนบางกลุ่มยังได้ประโยชน์มากกว่า แม้กระทั่งข้อสาม ปฏิรูปกองทัพ ก็แปลว่ามันมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เพราะฉะนั้นสามอย่างมันพูดเรื่องเดียวกันคือเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งมองดูแล้วคนก็อาจจะรู้สึกว่ามันจะเปลี่ยนได้แค่ไหน ไม่ได้รู้สึกว่าจะได้ความหวังอะไร แต่คนก็ยังให้น้ำหนักเรื่องนี้อยู่แปลว่า คนก็ยังคงสนใจอยู่ แต่อาจจะยังไม่ได้สนใจเรื่องของการทำมาหากินและลดรายจ่ายเพราะฉะนั้นในแง่ของรัฐบาลมันจึงมีเรื่องของการลดรายจ่าย สร้างรายได้ สร้างโอกาส รวมอยู่ด้วย”

ผศ.อัครพงษ์ อธิบายเพิ่มว่า สำหรับการลดรายจ่ายนั้นทำอยู่แล้ว แต่การสร้างโอกาสคนกลับยังมองไม่เห็นเพราะว่าผลออกมาต่ำกว่าการลดรายจ่าย และเรื่องการเมืองทั้งหมดมันเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นเรื่องของความไม่เสมอภาค เป็นเรื่องของสิทธิของความไม่เสมอภาค การอยากปฏิรูปกองทัพเพราะคนรู้สึกว่า ทำไมคนที่เป็นข้าราชการหรือเป็นทหารถึงมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น แล้วยังสามารถที่จะมาล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย แก้กฎหมาย ยกโทษให้ตัวเอง ผมว่าคนมองไปที่ประเด็นนี้มากกว่า ทำไมคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญยังคงลอยหน้าลอยตา ยังมีกินมีใช้ในสังคม ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบยังคงลำบากยากแค้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งสามข้อนี้สะท้อนให้เห็นเด่นชัด เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นผลจากการรัฐประหาร คือข้อ 3 และรัฐธรรมนูญตามมาด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นข้อ 2 ก็เป็นเรื่องของกฎหมาย คนอาจจะบอกว่าจะไปแก้ทำไมรัฐธรรมนูญ ก็ไอ้รัฐธรรมนูญมันเป็นตัวบอกว่าใครทำอะไรได้ หรือไม่ได้

“ถ้าคนทั่วไปอาจจะมองไม่ออก คนเลยจะด่าว่าทำเรื่องรัฐธรรมนูญทำไม ทำเรื่องปากท้องดีกว่า แต่จริงๆ แล้ว เอาแค่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องจัดสวัสดิการให้เหมาะสมถ้วนหน้าเท่ากัน ผลที่ออกมาก็จะคนละแบบกันเลย แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเน้นในเรื่องของความเหมาะสม พูดเรื่องของกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง คนก็จะใช้คำพวกนี้ โดยที่ทำให้รัฐบาลกลัวว่า การจัดทำดิจิทัล 10,000 บาท มันก็อาจจะไปขัดรัฐธรรมนูญ เหมือนในกรณีของเบี้ยผู้สูงอายุที่โดนมาตรานี้เหมือนกัน ที่บอกว่าการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุจะต้องทำให้คนที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นคำว่าเหมาะสมไม่รู้ว่า เป็นความเหมาะสมของใคร ไม่ใช้คำว่าถ้วนหน้า จึงมีการเถียงกันประเด็นนี้ คนที่เขาเข้าใจเรื่องโครงสร้างและการแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นคนที่เห็นภาพและมองว่าเรื่องพวกนี้มันไปกระทบสิทธิและความเสมอภาค”

สำหรับตัวเลขก็ชัดเจนว่ามันไม่มีอะไรแตกแถว ในเรื่องของโครงสร้างสังคม คำว่าแตกแถวในทีนี้คือไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ แน่นอนว่าหากถามแบบกำปั้นทุบดินว่าต้องแก้อะไรก่อนก็ต้องเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องโครงสร้างสังคมก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กัน เพราะว่ามันมีหลายองคาพยพ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ใจเราให้ได้ฝ่ายเดียว เพราะว่าฝ่ายผู้มีอำนาจก็เคยเสวยสุขมาแล้ว เขาก็ไม่ยอมปล่อยง่ายๆ การปฏิรูปจึงเต็มไปด้วยตอ แบบที่เราเห็นในสังคมในข่าว ดังนั้น ถ้าอยากได้ข้อมูลที่ลึกกว่านี้ต้องขอเวลา เพราะว่าเราจะต้องดูว่าใครคิดอะไร กลุ่มไหนต้องการผลประโยชน์แบบใด กลุ่มไหนต้องการให้ทำอะไรแบบนี้มันจะชัดมากขึ้น “อันนี้เป็นการอ่านผลอย่างคร่าวๆ โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ”

“เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล จะเป็นนางแบก นางโบ้ย นางแซะ มาช่วยกันพิจารณาเรื่องของโพลนี้เพราะว่ามันก็แสดงให้เห็นว่า การที่จำนวนคนตอบน้อย ไม่มีการจัดตั้งมาตอบ จัดตั้งมาถล่มโพล มันไม่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาถล่ม จริงๆ แล้วโพลมติชน x เดลินิวส์ ถ้า 8 หมื่นคนที่เคยโหวตเรา มาโหวตซ้ำอีกรอบในแง่ของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องโดนเยอะกว่านี้ เพราะคนโหวตคราวที่แล้วเขาโหวตให้พิธา ผลมันควรจะออกมาว่า การแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ ควรจะต้องเยอะกว่า มันกลายเป็นว่าผลออกมาเท่าๆ กัน แปลว่าโพลของมติชน x เดลินิวส์ เป็นโพลที่ออร์แกนิกอย่างแท้จริง ไม่มีการมาจัดตั้ง ไม่มีการระดมคนมาทำ เพราะถ้ามีคนระดมมาทำจำนวนจะเยอะกว่านี้ และผลจะไม่เป็นอย่างนี้ จึงอยากขอให้ทุกท่านมาช่วยกันคิดวิเคราะห์พิจารณากันในวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผมจะได้อ่านผลอีกครั้งหนึ่ง” ผศ.อัครพงษ์ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับผลโพลเดลินิวส์ x มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? ยังจะมีกิจกรรมเวทีใหญ่ เจาะลึกเรื่องโพลของเดลินิวส์ x มติชน ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารข่าวสด พร้อมกับไลฟ์สตรีม คลิปไฮไลต์ และข่าวทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ โดยจะเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาร่วมวิเคราะห์ผลของสื่อทั้งสองเครือต่อไป ทั้งนี้ เสียงของประชาชนที่เกิดขึ้นจากโพล รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? ครั้งนี้ ย่อมเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างมีน้ำหนัก และจะเป็นเสียงที่ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน สามารถรับฟังเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ตามที่ประชาชนคาดหวัง ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่รออยู่.