เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สังคมไทยแห่วิพากษ์วิจารณ์สนั่นโซเชียล หลังจากมีนักศึกษาสาวสวยคนหนึ่ง ได้โพสต์สารภาพความผิดยอมรับว่าเป็นผู้ป่วย HIV มาตั้งแต่กำเนิด แต่ว่าดันมาอกหักจึงหาอะไรทำแก้เหงาด้วยการเที่ยวกลางคืนและจบที่ one night stand พร้อมแพร่เชื้อผู้ชายมาแล้วกว่า 7 เดือน

โดยเธอเล่าว่า “คิดอยู่นานว่าจะโพสต์ดีมั้ย คือเราเรียนอยู่ปี 2 จะขึ้นปี 3 ค่ะ เริ่มเที่ยวครั้งแรกช่วงเดือนเมษายน เพราะอกหัก ไปเที่ยวทีไรก็จะได้ one night stand ตลอดค่ะ และที่รู้สึกผิดที่สุดเลยคือเราเป็น HIV ตั้งแต่กำเนิด สงสารคนที่เคยมีอะไรกับเรา ขออโหสิกรรมให้เราด้วยนะ ตอนนี้เราอยากหนีไปบวชชีที่ไหนไกล ๆ ไม่อยากเจอใครเลย มีภาพเข้ามาในหัวว่าผู้ชายเขาก็จะต้องมีครอบครัวในอนาคต เรากังวลว่าเขาจะติดเชื้อ เราไม่อยากให้แฟนและลูกในอนาคตเขาต้องมาเจออะไรแบบเราค่ะ ที่ผ่านมา 7 เดือน เราเที่ยวแทบทุกวัน แต่ที่ไปบ่อยก็คือผับข้างปั๊มน้ำมัน คือเราทานยาทุกวัน แต่ก็ดื่มเหล้าทำให้เชื้อดื้อยาค่ะ เลยขอสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว จะรักษาตัวเองจะตั้งใจเรียนให้จบ คนที่เรานัดกันในผับถ้ามาเจอข้อความนี้ เราอยากให้ทุกคนไปตรวจด้วย เพราะตอนนี้เราก็มีภาวะแทรกซ้อนเลยทำให้ดื่มไม่ได้อีก เป็นห่วงนะคะ”

สำหรับโรค HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ  น้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำลาย เสมหะและน้ำนมมีปริมาณเชื้อ HIV น้อย สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระแทบไม่พบเลย ทั้งนี้มีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่

  1. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย  ไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของการระบาดวิทยาพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ HIV ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
  2. ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด
  3. การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ HIV ผ่านผิวสัมผัสที่เป็นแผลเปิดหรือรอยถลอก รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ เช่น  มีดโกนหนวด  กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนังหรือคิ้ว  เข็มเจาะหู
  4. การติดต่อจากแม่สู่ลูก  ทั้งระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดและการเลี้ยงดูด้วยนมแม่
  5. การรับโลหิตบริจาคที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน  ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกขวดต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อ HIV เพื่อความปลอดภัย

หากสงสัยว่าได้รับเชื้อ HIV ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉินหรือยา PEP (เพ็บ) ภายใน 72 ชั่วโมง  หรือหากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อสามารถกินยา PrEP (เพร็บ) ซึ่งเป็นยาที่กินก่อนที่จะได้รับเชื้อหรือป้องกันเชื้อ HIV ได้…

ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งเรื่องข้อมูลโรค : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล