เป็นอีกหนึ่งคลิปที่ถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ภายหลังเกิดเหตุชายสูงวัยรายหนึ่งเข็นรถขายไอศกรีมอยู่ข้างถนน หลังจากนั้นปรากฏมีเจ้าหน้าที่เทศกิจหลายรายเข้ามาค้นรถขายไอศครีม ซึ่งมีรายหนึ่งได้หยิบเอากระป๋องใส่เงินของพ่อค้าไป ก่อนจะขึ้นรถกระบะ และขับออกไป โดยภายหลังทางด้าน “ไผ่ทองไอสครีม Paithong Ice Cream” ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ไอศกรีมของพ่อค้าคนดังกล่าวได้ออกมาโพสต์ข้อความแถลงว่า เนื่องจากธุรกิจขายเร่เป็นอาชีพเก่าแก่ของโลกและของคนไทย พ่อค้าแม่ค้าธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กที่มีเงินลงทุนไม่มาก จึงไม่ได้มีเงินพอสำหรับการเช่าร้านหรือพื้นที่ในการขาย จำเป็นที่ต้องออกขายไปตามแหล่งต่างๆ ที่อาจขัดกับระเบียบกฎหมายบ้านเมือง จึงขออภัยพร้อมจะทำการแจ้งต่อศูนย์ทุกศูนย์ให้ดูแลและระวัง

-‘ไผ่ทองไอสครีม’ขออภัยปมคลิปดัง เทศกิจยึดของพ่อค้าไอติม วอนเห็นใจคนไร้ทุนเช่าที่ขาย

สำหรับ “ไผ่ทองไอสครีม” นั้น คงเป็นหนึ่งในธุรกิจขายเร่ที่คุ้นตาคนไทยมาอย่างยาวนานจนเป็นตำนานความอร่อยนานถึง 70 ปี อีกทั้งเมื่อไม่กี่ปีก่อน ยังปรากฏเป็นข่าวดราม่าจนโด่งดังมาแล้ว

ที่มาของตำนานความอร่อย..
เรื่องราวของ ไผ่ทอง เริ่มต้นจาก นายกิมเซ้ง แซ่ซี ชายจากจีนแผ่นดินใหญ่ เขาเป็นพนักงานขายไอศกรีมของโรงงานไอศกรีมแห่งหนึ่ง ด้วยรสชาติที่ไม่คงเส้นคงวาจึงทำให้ได้รับคำติเตียนจากลูกค้าอยู่เป็นประจำ เมื่อความอดทนถึงที่สุดเขาจะไม่ทนอีกต่อไปจึงได้นำคำติเตียนเหล่านั้นไปบอกกับเจ้าของโรงงานและขอให้เจ้าของโรงงานปรับปรุง ฝ่ายเจ้าของโรงงานแทนที่จะรับฟัง กลับแสดงความไม่พอใจพร้อมทั้งยังบอกออกมาอีกว่า “ถ้าคิดว่าทำได้ตามที่พูดก็ให้ไปทำเอง” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความอร่อยในใจของคนไทย..

จากนั้นจึงตัดสินใจลาออกมาทำไอศกรีมด้วยตัวเอง ภายใต้ชื่อ “หมีบิน” ปรากฏว่าขายดิบขายดี จนต้องสั่งซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้ในการผลิต พร้อมปรับปรุงสูตรให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น และต่อมาได้พบว่าว่าคำว่าหมีบินมีชื่อคล้ายกับนมตราหมี อาจทำให้ลูกค้าสับสนได้ จนกระทั้งเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ถึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ไผ่ทองไอสครีม” ที่มาจากคำว่า กิมเต็ก แปลว่า คนที่มีคุณธรรมดั่งทอง และไผ่เป็นไม้มงคลของคนจีน และใช้ชื่อไผ่ทองทำตลาดไอศกรีมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จนเมื่อต่อมาก็ลองเปิดโอกาสให้ดีลเลอร์ที่เป็นบุคคลภายนอกเอาไปทดลองขายโดยใช้แบรนด์ ซึ่งคนแรกที่เป็นดีลเลอร์อยู่แถวจรัญสนิทวงศ์ ช่วงแรกมีลูกน้องในทีมขายประมาณ 38-39 คน ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งโรงงานผลิตเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก จนปัจจุบันมีกว่า 300 สาขา มีบางสาขาที่เจ้าของขยายสาขาแรกจนอยู่ตัวแล้ว ก็ขยับขยายไปทำสาขาที่ 2-3

ดราม่าระหว่างสายเลือด.. ไผ่ทองไอสครีม vs ไผ่ทองไอศครีม
เป็นทราบกันดีว่า “ไผ่ทอง” นั้นมีอยู่ 2 แบรนด์ด้วยกัน ซึ่งทั้งสองแบรนด์นั้น ต่างเป็นคนจากตระกูล “ชัยผาติกุล”

กลุ่มแรก คือ กลุ่ม “ไผ่ทองไอสครีม”
จดทะเบียนเมื่อ วันที่ 1 กันยายน 2541 รายชื่อหุ้นส่วนคือ นางน้ายเฮียง แซ่ซี (ภรรยาของนายกิมเซ้ง แซ่ซี ผู้ก่อตั้ง), นายบุรวิทย์ ชัยผาติกุล, นายเกษมสันต์ ชัยผาติกุล, นางสาวภัณฑิรา ชัยผาติกุล, นางสาวสิริณัฐ ชัยผาติกุล และนางเบญจนุช ชัยผาติกุล โดยจุดเด่นของแบรนด์คือการใช้ “ส.” เป็นตัวสะกด และใช้ต้นไผ่เป็นตัวสะกดแทน “ไ”

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม “ไผ่ทองไอศครีม”
เป็นของบริษัท ไผ่ทองไอศครีม จำกัด บริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 มีนายบุญชัย ชัยผาติกุล ลูกชายคนที่ 6 เป็นผู้บริหารงาน ส่วนนางสาวภคธร ชัยผาติกุล และนายปาลวัฒน์ พัฒนวิจิตร เป็นคณะกรรมการ โดยจุดเด่นของแบรนด์คือการใช้ตัวสะกดด้วย “ศ.” และมีต้นไผ่เป็นส่วนประกอบ

แม้ความแตกต่างของทั้ง 2 แบรนด์จะเป็นที่มาของดราม่า ที่ต่างฝ่ายต่างออกมาระบุว่า ตนเองคือต้นตำหรับของ “ไผ่ทอง” จนเป็นเรื่องราวดุเดือดศึกระหว่างสายเลือดนั้น แต่ในด้านเคล็ดลับ “ไผ่ทอง” ที่เป็นตำนานที่อยู่คู่คนไทยมาถึง 70 ปีนั้น ต่างมีเคล็ดไม่ลับ ที่ใครๆก็สามารถนำไปประยุกต์ได้ ก็คือ.. การรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า, การให้ความสำคัญกับคำพูดและความรู้สึกของลูกค้า, การทำธุรกิจแบบกองทัพมด ดังที่เราจะเห็น “ไผ่ทอง” อยู่ถ้วนทั่วแทบจะทุกพื้นที่ในประเทศไทย และท้ายที่สุด ก็คือ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของลูกค้า อาทิ การใช้โซเชียลมีเดีย เข้ามาสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้นนั่นเอง..