เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ลงนามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฎิบัติการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งมีแนวปฎิบัติประกอบด้วย การรับเด็กชั้นก่อนประถมศึกษา ให้รับเด็ก 4-5 ปี ในเขตพื้นที่บริการเข้าเรียนชั้นอนุบาล 2 และ 3 ส่วนสถานศึกษาที่เคยรับเด็กอนุบาลอายุ 3 ปีบริบูรณ์ที่อนุญาตให้เปิดรับอยู่ก่อนแล้ว ให้รับเด็ก 3-5 ปีในเขตพื้นที่บริการ เข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 , 2 และ 3  ส่วนการรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้รับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 ในพื้นที่บริการเข้าเรียนทุกคน โดยห้ามมีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการอย่างเด็ดขาด ขณะที่การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะไม่นำผลคะแนนทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาใช้ในการเข้าเรียนต่อ ม.1 และการรับนักเรียนชั้น ม.4 ให้นักเรียนที่จบชั้น ม.3ได้มีสิทธิเรียนต่อโรงเรียนเดิมตามศักยภาพทุกคน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปฎิทินการรับนักเรียนปี 2567 มีดังนี้ ก่อนประถมศึกษา รับสมัครระหว่างวันที่ 14-18 ก.พ. 67 จับฉลาก ประกาศผล และรายงานตัววันที่ 26 ก.พ. 67 ป.1 รับสมัครวันที่ 21-25 ก.พ. 67 ประกาศผลวันที่ 10 มี.ค. 67 ม.1 รับสมัครวันที่ 9-13 มี.ค. 67 สอบคัดเลือกวันที่ 23 มี.ค. 67 ประกาศผลสอบวันที่ 27 มี.ค. 67 มอบตัววันที่ 30 มี.ค. 67 และม.4 ให้โรงเรียนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขเอง

ทั้งนี้ การรับนักเรียนในปีการศึกษาหน้าตนได้กำชับไปถึงผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งที่สำคัญจะต้องเป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่ต้องสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกระบวนการรับนักเรียน ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนทุกคนจะต้องระวังอย่าให้มีการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียนอย่างเด็ดขาด เพราะไม่ใช่แค่ส่วนกลางจะจับตาดูเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานอื่นเฝ้าระวังเรื่องการรับนักเรียนด้วยเช่นเดียวกัน.