วันนี้ (20 ก.ย.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผย หลังเป็นประธานเปิดงาน Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ว่า กระทรวงดีอีเอส มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล และโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 นี้ก็สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยมีเป้าหมายในการจัดทำข้อมูลและผลวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล มาประยุกต์ใช้ในการช่วยประเมินและผลักดันการดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ 20 ปี

“ผลการศึกษาวิจัยจากโครงการนี้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยสามารถแสดงภาพการพัฒนาด้านดิจิทัลของ ประเทศ อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายดิจิทัลของกระทรวงฯ สดช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสะท้อนให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทยในปัจจุบันที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอด หรือปรับปรุงแก้ไขต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังสามารถนำข้อมูล ผลการสำรวจ และผลการศึกษาวิจัยต่างๆ จากโครงการศึกษาวิจัยนี้ ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ วางแผนดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสอดรับกับสภาพตลาดในยุคดิจิทัลไทยแลนด์”

ด้าน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า การศึกษาวิจัย ไทยแลนด์ ดิจิทัล เอ้าท์ลุค ระยะที่ 3 ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ภาคประชาชน จำนวน 39,145 ตัวอย่าง ภาคธุรกิจเอกชน 3,381 ตัวอย่าง และหน่วยงานภาครัฐที่ ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน 935 ตัวอย่าง  สำรวจระหว่างเดือน มิ.ย.และก.ค. 64 เป็นช่วงที่ไทยกำลังประสบ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีมาตรการควบคุมพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง รวมถึงการ เวิร์ก ฟรอม โฮม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 85.1% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต และเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10 ชั่วโมงต่อวัน

โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำงาน 75.2% การรับบริการออนไลน์ทางด้านการศึกษา 71.1% การทำธุรกรรม ซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ 67.4% การติดต่อสื่อสารสนทนา 65.1% การทำธุรกรรมออนไลน์ด้านการเงิน 54.7% กิจกรรมสันทนาการ 53.1% มีส่วนร่วมในการดำเนินการภาครัฐ 49.6% การรับบริการออนไลน์ ทางด้านสาธารณสุข 48.6% ติดตามข่าวสารทั่วไป 39.1% การใช้งานด้านอื่นๆ 35.6%

การสำรวจยังพบว่า 76.6% ของประชาชนซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม โดยมี ช้อปปี้ และลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ยอดนิยมอันดับต้นๆ และประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 60.7% ใช้บริการออนไลน์ภาครัฐ เช่น การชำระค่าน้ำและค่าไฟ นอกจากนี้ 64.6% ยังทำงานโดยใช้การประชุมทางไกล (VDO Conference) อีกด้วย โดยใช้อินเทอร์เน็ตที่พักอาศัยของตนเอง 70.2% และสถานที่ทำงาน 22.2%

นอกจากนี้การศึกษาพบว่า 61.7% ของประชาชนมักเกิดความเครียดบ่อยมากขึ้นเมื่อทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ หากมองถึงความปลอดภัยในการซื้อขายหรือทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ มีเพียงแค่ 43.6% ของประชาชนที่รู้จัก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 43.1% ของประชาชนเคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี ซึ่งการป้องกัน ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนรหัสผ่านในการเข้าระบบเท่านั้น

สำหรับภาคธุรกิจเอกชน การสำรวจพบว่า 98.4% ของผู้ประกอบการมีการใช้อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ธุรกิจเอกชนยังมีการใช้เทคโนโลยีในเรื่องของ Cloud และ Data Analytics สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการใช้ Cloud ถึง 70.3% และทำ Data Analytics สูงถึง 61.5% และ ใช้ AI ในเรื่องของ Chatbot สูงถึง 41% โดยช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นได้แก่ธุรกิจทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น 54.6% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 27.4% และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 27.9%

ในขณะที่การท่องเที่ยวและสันทนาการมีการใช้ออนไลน์ลงลดถึง 76.4% โดยสาเหตุหลักอาจจะเกิดจากการปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดอื่นๆได้ ในขณะที่แฟชั่นลดลง 44.8% และวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรลดลง 36.5% เนื่องจากมีจำนวนโรงงานที่ปิดตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สดช.ได้ลงนามความร่วมมือกับ 6 หน่วยงานด้านดิจิทัลของภาครัฐ ประกอบด้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เพื่อให้มีการบริหารจัดการและการบูรณาการ ข้อมูลภาครัฐ ที่มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน รวมถึงเป็นการยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย.