นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เปิดเผยว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ นโยบายและแผนด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานทุกท่าน ก็มีความห่วงใยและตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในปีที่ผ่านมา สกมช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงาน ได้มีการรับรู้อย่างทั่วถึง ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้มีความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานของท่านในการดำเนินการตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567 นี้ เป็นปีที่ทุกหน่วยงานต้องพร้อมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างจริงจัง และ สกมช. จะต้องตรวจสอบ ประเมินผลการปฏิบัติอย่างเข้มข้น เพื่อให้พร้อมรับมือและลดความเสี่ยง ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้ได้มากที่สุด

“เชื่อว่าทุกท่านน่าจะได้รับทราบ และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเหตุการณ์เรียกค่าไถ่ข้อมูลจากการติดแรนซัมแวร์ (Ransomware) เหตุการณ์ข้อมูลสำคัญรั่วไหลจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น เชื่อว่า ณ เวลานี้ ทุกท่านตระหนักเป็นอย่างดีแล้วว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์สามารถส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ความสงบเรียบร้อยในสังคม และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชน ต่อขององค์กรของท่านอย่างมากเพียงใด”
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวเว่า หลักการสำคัญของการดำเนินการปี 2567 คือ Proactive protection ซึ่งหมายถึงการป้องกันก่อนเกิดเหตุ เปรียบได้กับการล้อมคอกก่อนวัวหาย และ Total defense ซึ่งหมายถึงการเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกปัจจัยเสี่ยง ด้วยมาตรการแก้ไขที่เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแกร่ง เพื่อให้หน่วยงานได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ในแต่ละมาตรา ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอน ผลลัพธ์ และห้วงเวลาการดำเนินการ
ซึ่งหน่วยงานจะสามารถวางแผนดำเนินการได้ล่วงหน้า สามารถจัดสรรทรัพยากร เวลา และบุคลากรที่ใช้ในการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเวลา โดยตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม คือ หน่วยงานสามารถดำเนินการลดความเสี่ยงและมีผลการปฏิบัติตามมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้อย่างสอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนด รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับ สกมช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น