เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายพุฒิพงษ์ นาคทอง ผู้กำกับภาพยนตร์ 4Kings 2 พร้อมนักแสดงภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เข้ายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ผ่านนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เพื่อสะท้อนสังคมและการใช้ความชีวิตของนักศึกษาสายอาชีวะ

นายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ตนจึงมาชี้แจงต่อนายกฯ ถึงเจตนารมณ์ในการสร้างหนังเรื่องนี้ ว่าทีมผู้สร้างมีความบริสุทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง 4Kings ไม่ได้มีเจตนาจะส่งเสริม หรือยุยงให้เกิดความรุนแรงของเด็กอาชีวะตามข่าวที่เกิดขึ้น แต่จุดประสงค์ของผู้สร้าง เพื่อตีแผ่ปัญหาสังคม และเป็นอุทาหรณ์เตือนใจกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะก้าวข้ามความเป็นวัยรุ่น ได้เห็นถึงผลเสีย ตราบาปของการใช้ความรุนแรงว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงมีมานานแล้ว เกิดจากสภาพแวดล้อม ชุมชนที่อยู่ ปัญหาการเลี้ยงดูของครอบครัว ในภาพยนตร์ของตนก็ได้บอกหมด ไม่ได้สร้างหนังเพื่อส่งเสริมความเท่ อย่างไรก็ตาม ตนและทีมผู้กำกับพยายามศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของนักศึกษาอาชีวะของแต่ละสถาบัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดี ให้มีความภูมิใจในสถาบัน ตั้งใจเล่าเรียน รู้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี จบมาเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว และเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติ ขอย้ำว่า หนังทุกเรื่อง ผู้สร้างเขามีเจตนาที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว ผมไม่อยากให้นำภาพยนตร์มาโยงกับภาพข่าว

ด้านนายมงคลชัย กล่าวว่า ขอบคุณที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนภาพของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของผู้เรียนอาชีวะ อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ที่ดีของอาวชีวะก็มีอยู่มาก เช่น การทำจิตอาสาเพื่อสังคม และกิจกรรมที่ดูแลประชาชน แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าวให้สังคมรับรู้ รับทราบ แต่มักจะมีมิติหรือภาพกิจกรรมของเด็กอาชีวะที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม เป็นปัญหาสังคม มีการเลียนแบบ ทำให้ปลายทางมีการทะเลาะวิวาท ทำร้ายบุคคลที่สาม ทำร้ายกันเอง  ซึ่งแน่นอนว่า มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาจากการเลี้ยงดูขอครอบครัว ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่ดีของสังคม ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่ต้องร่วมกันแก้ไข    

“ภาพยนตร์นอกจากจะสะท้อนภาพเหตุการณ์ในสังคมแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องสร้างความเข้าใจต่อสังคม ให้เกิดการยอมรับเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งอายุยังน้อย ความรับผิดชอบชั่วดีก็ไม่มาก แล้วยังต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมต่อไป เขาต้องผ่านวัยที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากจิตใจมาก แต่ภูมิคุ้มกันของเขายังไม่มากเพียงพอ ซึ่งวัย 18-25 เป็นห้วงวัยของที่ต้องเรียนรู้ตัวเอง มีความเปราะบาง” นายมงคลชัย กล่าว.