ซึ่งเนื้อหาสำคัญ มีเจตนานิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่สภาในสมัยประชุมหน้า โดยก่อนหน้านี้ที่ผ่านมา แกนนำของพรรคก้าวไกลเดินสายขอความเห็น และแลกเปลี่ยนกับคนในแวดวงการเมือง กลุ่มการเมือง

ขณะเดียวกันเริ่มมีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นจากพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านบางพรรค โดยส่วนใหญ่ มีท่าทีเห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองที่มีความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. รวมไปถึงการชุมนุมในเหตุการณ์อื่นๆ แต่ที่เริ่มชัดเจนคือ “ไม่เห็นด้วยหากเสนอนิรโทษกรรมลบล้างให้กับผู้กระทำผิดตาม มาตรา 112”

โดยเฉพาะท่าทีของบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยและคนในรัฐบาล ที่ยังคงสงวนท่าทีอยู่นิ่งๆ ว่ากันไปตามสถานการณ์ ระมัดระวังไม่ออกหน้าก่อน เห็นได้จาก “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวย้ำว่า “รัฐบาลรับฟังทุกเรื่อง เรามุ่งมั่นที่จะทำทุกเรื่องที่เป็นข้อสรุปในสังคม แต่ถ้ายังไม่มีข้อสรุป แล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เราก็ยังไม่อยากจะทำ เพราะเราไม่อยากสร้างความขัดแย้งใหม่ เพราะเราได้สลายความขัดแย้งเดิมไปแล้ว อย่าให้ความขัดแย้งใดๆ เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนประเทศ“

ขณะที่ “สรวงศ์ เทียนทอง” สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยได้คุยกันเป็นการภายในว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประกบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณา ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น ยังไม่ได้ถกกัน

แน่นอนว่าท่าที “แบ่งรับแบ่งสู้” สำหรับพรรคเพื่อไทย พอเข้าใจได้ว่าเวลานี้ยังไม่มีความจำเป็น ต้องออกหน้าเสี่ยงตกเป็นเป้าโดนโจมตีโดยไม่จำเป็น เพราะหากมองถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองทันที  และอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ ฉะนั้นเวลานี้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงให้สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล

สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ที่กำลังเข้าสู่สภา โอกาสแทบเป็นศูนย์ เพราะพรรคเพื่อไทยมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลนิ่งเงียบ ก็เท่ากับยิ่งไม่ต้องพูดถึง รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บอกได้คำเดียวว่า “ไม่มีทาง” เพราะมีความระแวงว่าจะสอดไส้ให้ลบล้างความผิด คดีมาตรา 112 เพียงเท่านี้ก็เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล เป็นไปได้ยาก.