สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ว่า ซากเขื่อนแห่งนี้ชื่อ “สยงเจียหลิ่ง” เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณคดีชวีเจียหลิ่ง ตั้งอยู่ที่เมืองจิงเหมิน ในมณฑลหูเป่ย์ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งวัฒนธรรมยุคหินใหม่เคยเจริญรุ่งเรือง


นายเถา หยาง จากสถาบันวัตถุวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลหูเป่ย์ กล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้ได้รับการก่อสร้างขึ้นเมื่อราว 5,100 ปีก่อน บริเวณลำน้ำสาขาของแม่น้ำชิงมู่ต้าง และถูกขยับขยายทั้งความสูงและความกว้างในเวลาต่อมา


ตัวซากเขื่อนที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันสูง 2 เมตร และยาว 180 เมตร มีอ่างเก็บน้ำทางตะวันออก และพื้นที่ทดน้ำขนาด 8.5 เฮกตาร์ (ราว 53 ไร่) ทางตะวันตก โดยพื้นที่ทดน้ำมีแปลงเพาะปลูกข้าวยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย


การก่อสร้างเขื่อนใช้ดินในท้องถิ่น ผสมเข้ากับพืชที่มีรากมาก เพื่อเพิ่มความทนทานของโครงสร้าง ส่วนทางน้ำล้นอยู่ฝั่งเหนือของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งช่วยระบายน้ำส่วนเกินในฤดูน้ำหลาก


ด้านนายเหอ นู่ นักวิจัยจากสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของโครงการอนุรักษ์น้ำแห่งนี้ น่าจะเป็นการทดน้ำเพื่อแปลงเพาะปลูกข้าว บ่งชี้ว่าคนโบราณในพื้นที่ เรียนรู้การควบคุมและใช้ประโยชน์จากน้ำ มากกว่าเพียงดำเนินมาตรการป้องกันน้ำหลากแบบทั่วไป


อนึ่ง แหล่งโบราณวัตถุชวีเจียหลิ่ง เป็นที่รู้จักจากการค้นพบซากเมล็ดข้าวที่เหลือแต่คาร์บอนในพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในจีน เขื่อนแห่งนี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ในยุคหินใหม่มีการเพาะปลูกข้าวกันอย่างจริงจังแล้ว เนื่องจากการเพาะปลูกข้าวต้องพึ่งพาการทดน้ำอย่างมาก


นอกจากนี้ ที่ราบเจียงฮั่นมีเครือข่ายแม่น้ำหนาแน่น และแหล่งทรัพยากรน้ำมากมาย ขณะที่สภาพอากาศซึ่งฤดูฝนและฤดูร้อนที่มาคลาดเคลื่อนเป็นครั้งคราว การกักเก็บน้ำไว้ใช้และป้องกันน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญ.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA