เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่วัดเวฬุวนาราม เขตดอนเมือง น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานพิธีเปิดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ “โครงการกรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ” พร้อมกล่าวต้อนรับและกล่าวสรุปนโยบายกทม. ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อคนกทม. สุขภาพดี ในโอกาสคณะทูตลงพื้นที่ศึกษาดูงานและพิธีเฉลิมฉลอง วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2023 “สุขภาพดีถ้วนหน้า: ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ”

กทม. มีหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างครบวงจร ด้วยภารกิจในการให้บริการอันหลากหลาย ทั้งการแพทย์สาธารณสุขการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ และด้านอื่นๆ โดยมีเป้าหมายให้ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนมีชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี และมีความสุข ตามนโยบายหน่วยเชิงรุก Mobile Medical Unit รถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชนพบว่าประชาชนมากกว่า 100,000 คน ได้รับบริการทางด้านสาธารณสุขเชิงรุก

อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เส้นเลือดฝอย โดยครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษ กทม.ได้รับเกียรติจากคณะทูต ลงพื้นที่เยี่ยมชมการให้บริการในโอกาสครบรอบวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (International Universal Health Coverage Day) เพื่อให้คณะทูตได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย

สำหรับกิจกรรมเฉลิมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประจำปี ค.ศ. 2023 ภายใต้หัวข้อ “สุขภาพดีถ้วนหน้า: ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกทม. ได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวงกว้าง เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องหารือเกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขโลกในยุคหลัง COVID-19

ผ่านตัวอย่างของการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทพลัสของไทย แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับการดำเนินการด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนย้ำเจตนารมณ์ของไทยและประชาคมโลกที่ให้ไว้ในช่วงการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 75 และ 78 ในปี 2562 และ 2566 ที่นครนิวยอร์ก

โดยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะนำคณะทูตานุทูต ศึกษาดูงานการจัดบริการสาธารณสุขเชิงรุกในระดับชุมชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสวัสดิการของรัฐมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการดำเนินนโยบายฯ เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ใน 4 มิติ ได้แก่ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ และค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เช่น การจัดบริการเชิงรุกใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย (Common illness) สามารถปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือรถทันตกรรมเคลื่อนที่

2. ลดความแออัดในโรงพยาบาล 3. ทำให้การเข้าถึงบริการเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น รวมถึงบริการสุขภาพที่บ้าน เช่น การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยและ 4. เพิ่มคุณภาพบริการให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน เพื่อประชาชนมีสุขภาพดีและลดการเจ็บป่วย ทั้งนี้ บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ

สำหรับรถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชน (Mobile Medical Unit) สำนักอนามัยจัดทำแผนออกหน่วยให้บริการเชิงรุก แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครอบคลุม 50 เขต ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 – จนถึงปัจจุบัน จัดบริการ 1.ออกหน่วยคัดกรองสุขภาพโดยศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อครอบคลุมชุมชนจัดตั้ง จำนวน 2,016 ชุมชน ออกไปแล้ว จำนวน 1,662 ชุมชน ผู้รับบริการ 63,889 คน และในปีงบประมาณ 2567 อยู่ระหว่างดำเนินการ

2.ออกหน่วยเชิงรุกเฉพาะด้าน เช่น ทันตกรรม, เอ็กซเรย์ เคลื่อนที่, สุขภาพจิต, คัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก จำนวน 2,668 ครั้ง ผู้มารับบริการ จำนวน 167,837 คน สัตวแพทย์ ทำหมัน ฉีดวัคซีน ฉีดไมโครชิป สุนัข/แมว จำนวน 28,328 ตัว 3.ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ ตามโครงการ กรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ หมุนเวียนไปแต่ละกลุ่มเขต ปัจจุบันให้บริการมาแล้ว 22 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 23 สำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขตดอนเมือง อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ จัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ ณ วัดเวฬุวนาราม เขตดอนเมือง

นอกจากนี้ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชนฯ ให้การสนับสนุนแว่นสายตายาว สำนักการแพทย์โดยโรงพยาบาลกลาง จัดบูธกิจกรรม และมีการจำหน่ายของดีเขตดอนเมือง.