เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางภัสรา นทีทอง ผอ.เขตบางขุนเทียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม BKK Food Bank และสาธิตการทำเมนูอาหารด้วยปลาหมอคางดำที่รับซื้อจากเกษตรกรชาวบางขุนเทียน
โดยแม่ครัวของสำนักงานเขตบางขุนเทียนโชว์ฝีมือทำเมนูปลาผ่าน 6 เมนูเด็ด ได้แก่ ปลาหมอคางดำราดซอสเปรี้ยวหวาน ปลาหมอคางดำทอดเกลือ ห่อหมกปลาหมอคางดำ ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ แกงส้มปลาหมอคางดำ และปลาร้าจากปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก 2 เชฟมือทอง ได้แก่ เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร (Soft Power) ที่มารังสรรค์เมนู ปลาหมอคางดำซอสผัดพริกขิงและคางดำฟูพริกขิงกรอบ และเชฟชีส เมธัส ปาทาน Corporate Chef บริษัท สหสเตนเลส สตีล จำกัด ที่มารังสรรค์เมนู ปลาหมอคางดำราดซอสมะขาม
นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม. เจอในพื้นที่ เขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั้น กทม.จึงดำเนินการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตาม 6 มาตรการของกรมประมง โดยได้ดำเนินการใน 3 เรื่อง 1. กำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ 2. นำปลาหมอคางดำที่กำจัดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3. หาแนวร่วมโดยประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ
สำหรับสำนักงานเขตบางขุนเทียนได้ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ โดยคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตบางขุนเทียนได้ช่วยซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท และยังมีเชฟชีส กับเชฟชุมพล ประธานอนุกรรมการฯ Soft Power มาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการลดจำนวนปลาหมอคางดำ โดยการจับมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการจับไปทิ้ง รวมทั้งได้มีการแจกปลาทั้งในรูปแบบปลาสด และแบบนำมาทำอาหารแล้ว ให้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสื่อมวลชนที่มาร่วมกิจกรรม ในส่วนของรสชาตินั้น เมื่อนำมาทำอาหารแล้วพบว่ามีความอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาอื่น ทั้งนี้ การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศและนำไปใช้ประโยชน์ โดยจะมีการนำมาทำอาหารเพื่อส่งให้กับกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งจะขยายผลไปยัง BKK Food Bank สำนักงานเขตอื่น ๆ ด้วย
“กทม.ทำเต็มที่ในส่วนที่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องการจำกัดโซน การปล่อยปลาผู้ล่าจะต้องฝากทางกรมประมง ทางรัฐบาล มาร่วมกัน ซึ่งเราพร้อมที่จะเดินตามนโยบายอย่างเต็มที่” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ด้านเชฟชุมพล กล่าวว่า สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทาน รสชาติปลาหมอคางดำจะคล้ายกับปลานิล แต่อาจจะมีความกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะเป็นปลาสายพันธุ์ปลานักสู้ ปลานักล่าเช่นเดียวกับปลาช่อนหรือปลากะพง ข้อดีคือเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง เชื่อว่าด้วยภูมิปัญญาในการทำอาหารหลากหลายชนิดของคนไทย ทั้งนำปลาตัวใหญ่ไปทำอาหาร และนำปลาตัวเล็กไปทำปลาร้า จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก และจะลดจำนวนได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าประมาณ 3 เดือน อาจจะหาจับได้ยากและราคาสูงขึ้น
ขณะที่ เชฟชีส กล่าวว่า ปลาหมอคางดำทานได้ แม้รสชาติของเนื้อปลาจะน้อยกว่าปลาที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เมื่อนำมาทำอาหารไทยซึ่งมีรสชาติเข้มข้น จะทำให้สามารถทานได้เหมือนปลากะพงหรือปลานิลทั่วไป โดยมีข้อสังเกตระหว่างปลาตัวผู้กับปลาตัวเมียที่ขนาดตัว คือ ปลาตัวผู้จะตัวเล็กกว่า เนื้อกระด้างกว่าเล็กน้อย เพราะมีหน้าที่รับฝากไข่ ส่วนปลาตัวเมียจะตัวใหญ่
ขณะที่ ผอ.เขตบางขุนเทียน กล่าวถึงการสำรวจความเสียหายของเกษตรกรในพื้นที่ ว่า จากการสำรวจในขณะนี้มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในพื้นที่กว่า 800 ราย ทางสำนักงานเขตได้จัดส่งรายชื่อเกษตรกรทั้งหมดให้สำนักพัฒนาสังคมเพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเมื่อสำนักพัฒนาสังคมสำรวจความเสียหาย รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ แล้วก็จะส่งให้กับกรมประมงเพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามแนวทางของกรมประมงต่อไป.