“อยู่เมืองนี้ อย่ารู้เยอะ!” สโลแกนสุดเด็ดเจ็บจี๊ด จาก  “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง” ซีรีส์สัญชาติไทยแนวแอ็กชัน-ระทึกขวัญ จาก “เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)” ที่แค่หลังปล่อยตัวอย่างออกมาก็ทำเอาแฟน ๆ ขนลุกและตื่นเต้น พร้อมคาดหวังกับการได้เห็นการวิพากษ์สังคม และ “อีกมุม” ของ “กรุงเทพฯ” ที่เรื่องนี้จะสะท้อนออกมา ผลงานของ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับแนวทริลเลอร์ ฝีมือฉกาจ ที่มานั่งแท่นกำกับการแสดงพ่วงด้วยเขียนบท และได้ คุ่น-ปราบดา หยุ่น นักคิดนักเขียนแห่งยุค เข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัวในฐานะผู้จัดและผู้อำนวยการสร้าง ซีรี่ส์มีความยาว 6 ตอน  ซึ่งได้ 2 นักแสดงมากฝีมือ อย่าง เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ และ ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง โคจรมารับบทนำด้วยกันครั้งแรก พร้อมถ่ายทอดมุมมืดและปริศนาของ “เมืองหลวง” ที่พร้อมกลืนกินทุกคนที่ “อยากรู้” กับเรื่องราวของหนุ่มบ้านนอก ที่ต้องปากกัดตีนถีบกับชีวิตในกรุงเทพฯ และได้มาทำงานกับมูลนิธิกู้ภัย รวมถึงเข้าไปพัวพันกับปมปริศนาในอาชญากรรมที่เกี่ยวพันโยงใยไปทั่วทั้งเมือง!

รู้จักตัวละคร

เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ รับบท “วันชัย” ชายหนุ่มที่มีภูมิลำเนามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบุคลิกเป็นคนซื่อและจริงใจ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาช่วยพี่ชายทำงานหาเงินส่งกลับไปให้พ่อแม่ ด้วยความหวังว่าจะได้มาพบกับสิ่งดีๆ แต่เขาไม่รู้เลยว่าสิ่งที่รอคอยอยู่กำลังจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและมุมมองของเขาที่มีต่อเมืองหลวงแห่งนี้ไปสิ้นเชิง

ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง  รับบท “แคต” นักข่าวสาวไฟแรงจากฝ่ายข่าวบันเทิง แต่ในความเป็นจริงสนใจสายงานอาชญากรรม จึงมักขัดคำสั่งบรรณาธิการและผู้บริหารระดับสูงไปทำข่าวนอกเหนือหน้าที่อยู่บ่อยๆ แคตเป็นคนรักความถูกต้องและยึดมั่น ในอุดมการณ์ของนักสื่อสารมวลชนเป็นหลัก แม้ว่าการทำหน้าที่ในฐานะกระบอกเสียงของสังคมอาจไม่ใช่เส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับเธอ

ร่วมด้วย ไมเคิล-อภิชา ธนชานันท์ และ นุ่น-พิชชาธร สันตินธรกุล  สองนักแสดงหน้าใหม่ ที่เข้ามารับบท “ชีพ” และ “กิ๊ฟ” เด็กวัยรุ่นสองคนที่ชีวิตและความสัมพันธ์ถูกคั่นกลางด้วยรอยแยกจากความแค้นของผู้ใหญ่ พร้อมด้วย มายด์-วรัทยา ว่องชยาภรณ์ กับบทบาทของตัวละครลึกลับ ซึ่งมาพร้อมกับปมสำคัญ

นอกจากนี้ยังมี ปุ้มปุ้ย-พรรณทิพา อรุณวัฒนชัย  สาวแซ่บที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปริศนาที่ตัวละครหลักต้องเผชิญ เช่นเดียวกับนักแสดงหนุ่ม เจแปน-ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ ที่สลัดมาดฮาๆ มาช่วยสร้างปมลึกลับ ให้ซับซ้อนขึ้นไปอีก รวมถึงยังมีเหล่านักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือ อย่าง หนึ่ง-ภาสวร บวรกีรติ ในบทตัวร้ายสุดเดือด“ฮาร์ดคอร์” พร้อมด้วย ปู-สหจักร บุญธนกิจ, แบงค์-ปวริศร์ มงคลพิสิฐ, ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล , เป้-ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ และ เฟรช-อริศรา วงษ์ชาลี เป็นต้น

เรื่องย่อ

เมื่อ “วันชัย” (เวียร์) เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาช่วยพี่ชายทำงานหาเงินส่งไปจุนเจือครอบครัว แต่กลับต้องมา พบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันและปริศนาที่ยากจะคลี่คลาย นั่นคือการเสียชีวิตของพี่ชายในอุบัติเหตุที่ ทิ้งปมขนาดใหญ่เอาไว้ให้เขาต้องหาสาเหตุเบื้องหลัง นำไปสู่การสืบหาความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นในกรุงเทพฯ และพี่ชายของ “วันชัย” มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นยังไง  ทำให้เขาจึงต้องจำใจพาตัวเองเข้าสู่ด้านมืดของเมืองหลวงเพื่อค้นหา ความจริงผ่านการร่วมงานกับมูลนิธิกู้ภัย โดยได้รับความช่วยเหลือจาก “แคต” (ออม) นักข่าวสาวที่จับพลัดจับผลูมาร่วมตีแผ่  เรื่องราวเร้นลับที่แฝงตัวมาอย่างยาวนานภายใต้ฉากหน้าอันขาวสะอาด แต่ทั้งเขาและเธออาจต้องยอมเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงอย่างที่ต้องการ

เปิดใจผู้เขียนบทและผู้กำกับ : โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ

Q : ช่วยเล่าถึงความน่าสนใจของ “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง” ?

โขม : ซีรีส์เรื่องนี้นำเสนออีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่น่าสนใจ มีความย้อนแย้งในตัวเองสูงมาก คือเป็นเมืองที่มีความเจริญ มีความหลากหลายของวัฒนธรรม แต่ก็มีเรื่องราวมากมาย ท้องถนนในกรุงเทพฯ มีอุบัติเหตุเยอะมาก และมีคนทำงานอาชีพกู้ภัยคอยจัดการกับเหตุไม่คาดฝันต่าง ๆ ซึ่งในต่างประเทศไม่มีคนทำอาชีพนี้ จึงเป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจ ในหลายแง่มุมและน่านำมาพูดถึง เพราะถึงแม้การกู้ภัยจะเกิดขึ้นมาจากเจตนาที่ดีแต่มันก็มีด้านมืด ๆ อยู่เหมือนกัน เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในซีรีส์เรื่องนี้ที่บอกเล่าความซับซ้อนและความลึกลับที่แฝงอยู่ในวงการและการที่มีคนอาศัยวงการนี้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โครงหลักของเรื่องเกิดจากไอเดียว่าถ้าเกิดเหตุบางอย่างขึ้นแล้วคุณเรียกมูลนิธิกู้ภัยมาช่วย แต่ถ้าเขาไม่ได้มาเพื่อกู้ภัยอย่างเดียวจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากนั้น โดยปกติแล้วภาพที่ถูกนำเสนอบ่อยๆ เกี่ยวกับการทุจริต มักจะเป็นเรื่องยาเสพติด การเมือง การค้ามนุษย์ แต่ซีรีส์เรื่องนี้จะพาผู้ชมไปสัมผัสกับการทุจริตและการหาผลประโยชน์ ที่แฝงตัวอยู่ในความปลอดภัยของเมืองที่เต็มไปด้วยแสงสีล่อลวง ซึ่งในสังคมมักจะมีจุดดำที่คนคอยอาศัยช่องว่างในการ ทุจริตคอรัปชั่น ส่งผลต่อเนื่องเป็นเหมือนโดมิโนที่ขยายผลไปอย่างมหาศาล ซึ่งยังไม่เคยมีใครหยิบยกเรื่องตรงนี้มาเล่า

Q : พูดถึงเรื่องย่อ “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง”?

โขม : ‘วันชัย’ พระเอกของเรื่องเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อตามหาพี่ชายซึ่งทำงานอยู่กับมูลนิธิกู้ภัย แต่พอมาถึงปรากฏว่าพี่ชายเสียชีวิต เลยต้องพยายามหาทางไขปริศนาว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น เรื่องราวก็จะค่อย ๆ คลี่คลาย เริ่มเจอกับตัวละครที่เป็นปริศนาและชวนให้เกิดการตั้งคำถาม ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับนางเอก ที่เป็นนักข่าวซึ่งเข้ามาติดตามคดีนี้อยู่ก็พัฒนาไปพร้อมๆ กัน ในซีรีส์จะมีทั้งสิ่งที่เป็นสีดำและขาว มีคนดีและคนไม่ดี แย่งชิงพื้นที่กัน มีความพยายามที่จะจัดการกับปมบางอย่างที่ฝ่ายไม่ดีทำเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์ในแต่ละตอนจะดำเนินเรื่อง ระหว่างการสืบหาความจริง โดยที่พระเอกพาคนดูเข้าสู่โลกของวงการกู้ภัยและพาไปสู่ฉากสำคัญ ๆ ของแต่ละตอน มีทั้งดราม่า แอ็กชัน บางครั้งก็มีเรื่องให้คนดูเซอร์ไพรส์ มีหลาย ๆ อารมณ์ให้คนดูได้เจอ

Q : ในฐานะที่เป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบท ช่วยเล่าถึงการทำให้ตัวหนังสือออกมาโลดแล่นเป็นซีรีส์?

โขม : เราวางคาแรคเตอร์ไว้ค่อนข้างแน่นอนพอสมควรอยู่แล้ว จากนั้นก็ค่อยลงพื้นที่จริง ๆ มีการทำเวิร์คช็อปกับอาสาสมัคร กู้ภัย นอกจากนั้นเรายังมีที่ปรึกษาบท เป็นหัวหน้าทีมประชาสัมพันธ์ของศูนย์ 1669 มาให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูล เกี่ยวกับเคสและเหตุการณ์ต่างๆ เพราะเราพยายามให้ซีรีส์สะท้อนชีวิตจริงของคนกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด คนกลุ่มนี้ตื่นอยู่เพื่อรอรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในขณะที่เรานอนหลับ มันน่าสนใจว่าคนเหล่านี้ทำเพื่ออะไร ความมีมนุษยธรรมหรือผลประโยชน์บางอย่างเป็นตัวผลักดันกันแน่ ซึ่งสุดท้ายผู้ชมก็จะได้พบว่าจริงๆ แล้วมันมีหลากหลายเหตุผลมาก แต่ละคน มีความฝันและเหมือนมีชีวิตสองด้าน ตอนกลางวันคือคนที่มีชีวิตแบบคนปกติทั่วไป แต่ตอนกลางคืนเป็นเหมือนฮีโร่ที่ต้อง เปลี่ยนชุดออกมาทำอะไรบางอย่าง โดยมีมิติเรื่องดราม่า เรื่องชีวิต ความสนุกสนาน มิตรภาพและการผจญภัยต่าง ๆ หลอมรวมอยู่

Q : บรรยากาศของซีรีส์เรื่องนี้เหมือนกับกรุงเทพฯ ที่เราเคยเห็น หรือว่าแตกต่างออกไปอย่างไร?

โขม : เราพยายามนำเสนอกรุงเทพฯ ในมุมแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็น เป็นเหลี่ยมที่ไม่ได้มีอยู่ในหนังสือโปรโมทการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นภาพของชุมชนเก่าที่ถูกล้อมไปด้วยตึกแบบ 360 องศา เชื่อมต่อกันด้วยถนน ซึ่งกลายมาเป็น คอนเซปต์แรกๆ เพราะถนนเชื่อมต่อทุกอย่างในเมืองเหมือนเป็นเส้นเลือดไหลผ่านอวัยวะทุกส่วนที่พึ่งพาอาศัยกัน จากคอนเซปต์นี้เราต่อยอดและออกแบบให้ภาพของเมืองที่จะนำเสนอมีความเชื่อมต่อกันระหว่างความเก่าและความใหม่ที่ย้อนแย้งแต่ไม่ได้แยกขาดจากกัน เหมือนกับชุมชนเก่าที่ถูกตึกล้อม หรือหน้าวัดที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ติดไฟแอลอีดี สะท้อนความสัมพันธ์ของทุนกับวัฒนธรรม โดยมีแนวคิดคือการย้อนแย้งในเฟรมเดียว เกิดเป็นคำถามตั้งแต่แรกเห็นภาพ ของกรุงเทพฯ ว่าของใหม่กำลังมาแล้วของเก่าจะยังอยู่ต่อไปได้ไหม คนดูจะได้เห็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน เมืองที่ไม่ หลับใหล ซึ่งไม่ใช่เมืองที่มีแต่ด้านมืดมัว และรู้สึกสนุกไปกับมันได้ ผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครที่ทำงานกู้ภัยซึ่งมีมุมเท่ ๆ มีความเป็นฮีโร่และมีความเป็นทีมเวิร์ค

Q : พูดถึงการคัดเลือกนักแสดงนำทั้งสองคนในซีรีส์เรื่องนี้หน่อย?

โขม : เราอยากได้ภาพของโลคอล ฮีโร่ (Local Hero) เป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างทั้งที่แทบจะไม่มีโอกาสหรือโดนปิดล้อมทุกทาง เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ดังนั้นคุณเวียร์-ศุกลวัฒน์ เลยเป็นคำตอบ ภายนอกเขามีความแข็งแกร่งและภายในมีความอ่อนโยน ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของเรื่อง ที่มีบทโรแมนติกอยู่ด้วย เราอยากได้นางเอกเป็นผู้หญิงที่น่ารัก มีความเป็นเด็ก ตัวเล็กแต่กัดไม่ปล่อยและไม่ยอมคน บทบาทนี้เลยมาตกที่น้องออม-สุชาร์ แต่เราต้องทำให้ภาพของออมออกมาแตกต่างจากบทบาทที่เคยเล่นมาในเรื่องก่อน ๆ ให้ดูเป็นนักข่าว มีความสู้คน มีความแข็งแกร่ง ก็เลยต้องเปลี่ยนลุคตั้งแต่ทรงผมที่ต้องตัดให้สั้นเพื่อความทะมัดทะแมง หรือวิธีการพูดจา ซึ่งเราได้ความอนุเคราะห์จากคุณฐปนีย์ เอียดศรีไชย ที่อนุญาตให้เราติดตามกองออกไปเวลาทำข่าว ทำให้น้องออมได้เห็นเคสจริง ๆ ว่าการทำงานมันจริงจังและดุเดือดมาก ไม่ใช่ภาพนักข่าวอย่างที่เราเคยเห็น ส่วนเรื่องเคมีของทั้งสองคนถือว่าเข้ากันได้ดีมาก ๆ เล่นด้วยกันแล้วน่ารัก

Q : ชอบฉากไหนในซีรีส์เป็นพิเศษ?

โขม : ผมจะชอบฉากเล็ก ๆ อย่างฉากที่พูดคุยกันระหว่างเจ้าของมูลนิธิคุยกับตัวละครชื่อ ‘ประธีป’ บทสนทนาเป็นการพูดคุยกัน ธรรมดา ถามกันว่าคุณทุจริตในองค์กรหรือเปล่า แล้วนักแสดงทั้งสองคนเล่นดี ผมจะรู้สึกประทับใจกับฉากแบบนี้ แต่ถ้าพูดถึงฉากแอ็กชันจะเป็นฉากไฟไหม้ใหญ่ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระเอกต้องเจอและได้ผจญเพลิง เป็นฉากที่เวียร์เล่นจริง ลุยจริงในชุดกันไฟ ต้องวางเทคนิคกันเยอะพอสมควร แต่ได้ภาพที่ออกมาดูดีเป็นที่น่าพอใจ

Q : ในแง่ของ Production Design มี Setting ไหนที่ถูกใจในฐานะผู้กำกับมากที่สุด? 

โขม : ขอยกตัวอย่างเป็นออฟฟิศนักข่าวของนางเอกที่เราเนรมิตตึกร้างให้กลายเป็นออฟฟิศใหม่ทั้งหมด ดีไซน์ขึ้นมาภายใต้กรอบความท้าทายว่ามันคือบริษัทที่มีอุดมการณ์เก่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่สู้เพื่อความถูกต้องมาก่อน แต่ว่าในปัจจุบันมันถูกบริหารงานโดยซีอีโอคนใหม่ ด้วยวิธีคิดและวิธีการทำงานแบบใหม่ เป็นแนวคิดแบบเดียวกับการนำเสนอเมืองที่มีโลกเก่า ซึ่งถูกล้อมไว้ด้วยโลกใหม่ ให้ความรู้สึกว่าหลาย ๆ สิ่งกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง

Q : เล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับ Netflix เป็นครั้งแรก? 

โขม : สนุกครับ การได้ทำงานกับเน็ตฟลิกซ์เพื่อนำเสนอซีรีส์ให้กับผู้ชมทั่วโลก คือโอกาสที่ทำให้เราได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นสากล ดังนั้นถ้าเราจะเสิร์ฟรสชาติไทย ก็ต้องเป็นรสชาติไทยที่ชาวต่างชาติกินได้ มีความเป็นไทยที่ชาวต่างชาติดูแล้วสนุกไปกับมันได้ เราได้ส่งมอบงานให้กับผู้คนมากมายจากหลากหลายประเทศ และมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่มันก็พิสูจน์ตัวผมประมาณหนึ่งว่าผลงานจะได้เดินทางไปในหลาย ๆ ภูมิภาค ส่วนในด้าน การทำงาน เน็ตฟลิกซ์มีระบบและมาตรฐานที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราทำหน้าที่ในส่วนของเราให้สมบูรณ์ที่สุด โฟกัสให้ถูกจุด โฟกัสกับตัวละคร กับฉาก กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็เพียงพอ ทำให้รู้สึกว่าเรามีพื้นที่ในการทำงานอย่างอิสระ

คุยผู้จัดและผู้อำนวยการสร้าง : คุ่น – ปราบดา หยุ่น

Q : ช่วยเล่าถึงที่มาของการตั้งชื่อซีรีส์เรื่องนี้ว่า “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง” ?

คุ่น : ซีรีส์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เราจึงอยากนำเสนอคำว่า Bangkok ที่คนทั่วโลกรู้จัก ส่วนคำว่า Breaking ที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปมีความหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแตกออกมาจากสิ่งที่ไม่เคยเป็น แตกออกมาจากสิ่งที่เราเคยทำไม่ได้หรือว่าเคยแพ้มาก่อน หรือว่าการประสบความสำเร็จและการได้รับชัยชนะ รวมไปถึงการหยุดเพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า สอดคล้องกับพัฒนาการของตัวละครหลัก ๆ สองคนคือ ‘วันชัย’ กับ ‘แคต’ ที่เติบโตจากการเป็นคนตัวเล็ก ๆ จากคนที่ไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถประสบความสำเร็จบนเส้นทางของตัวเองได้ แต่ในท้ายที่สุดสามารถพาตัวเองก้าวข้ามสิ่งที่เป็นอุปสรรคไปได้ ซึ่งเป็นอีกความหมายหนึ่งของคำว่า Breaking ในเรื่องนี้

Q : ทำไมถึงอยากเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ ผ่านตัวละครที่ทำอาชีพกู้ภัย?

คุ่น : เราได้รับโจทย์มาว่าอยากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานกู้ภัยในกรุงเทพฯ เพราะมันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับชาวต่างชาติ อาจจะมีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่มีงานอาสากู้ภัย เราก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานกู้ภัย ทั้งจากการสัมภาษณ์คนที่ทำงานนี้ตามมูลนิธิต่างๆ แล้วก็จากการอ่านข่าวสาร จากการดูคลิปต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาบท ซึ่งทางเน็ตฟลิกซ์ไม่ได้อยากมองกรุงเทพฯ ผ่านสายตาของคนต่างชาติ แต่อยากให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ซีรีส์เรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด และสำหรับเรา งานอาสากู้ภัยมีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือการที่ได้ไปพบเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากการได้ไปช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ กับใครก็ตาม จึงเป็นอาชีพที่ได้เห็นมิติต่าง ๆ ของชีวิตผู้คนในกรุงเทพฯ ในหลากหลายแง่มุม ซึ่งเรามองว่าการช่วยเหลือผู้อื่นของงานกู้ภัยเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในการพาผู้ชมไปเห็นมุมต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ

Q : Mood & Tone ของกรุงเทพฯ ในซีรีส์เรื่องนี้เป็นอย่างไร?

คุ่น : เป็นกรุงเทพฯ ที่มีความร่วมสมัย ซึ่งมีสิ่งที่เป็นขั้วตรงกันข้ามอยู่ในนั้น คือไม่ได้เป็นแค่เมืองใหญ่ที่มีแต่ความหรูหรา หรือความเจริญเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีตรอกซอกซอยและมุมที่ถ้าไม่มีคนมาบอกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ก็แลดูเป็นส่วนไหนก็ได้ในจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย ดังนั้นใน Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ผู้ชมจะได้เห็นทั้งด้านที่ทันสมัย และหรูหรามาก ๆ ย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยตึกสูง ๆ และความเจริญทางเทคโนโลยี ถนนหนทางที่ดูทันสมัย แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะได้เห็นชีวิตของผู้คนที่อยู่ชายขอบ ชุมชน วิถีชีวิตของคนธรรมดาที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ รวมไปถึงความอบอุ่นของ ครอบครัว เป็นกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายมาก ๆ

Q : มุมที่เราไม่เคยเห็นของกรุงเทพฯ ที่จะถูกนำเสนอในซีรีส์เรื่องนี้ คืออะไร?

คุ่น : สำหรับคนไทย สิ่งที่อาจจะไม่เคยเห็นคือการเล่าเรื่องผ่านสายตาของอาสากู้ภัย แม้ว่าเราจะเคยเห็นรถกู้ภัยหรือจุดที่เป็น มูลนิธิ แต่ไม่เคยเห็นชีวิตความเป็นอยู่ การทำงานหรือการฝึกฝนจริง ๆ ส่วนในมุมของผู้ชมที่เป็นชาวต่างชาติ น่าจะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นของกรุงเทพฯ มากกว่าคนไทย เพราะภาพของกรุงเทพฯ ที่เขาเคยเห็นมักจะเป็นด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเราแทบจะไม่มีมุมการท่องเที่ยวเลยในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่จะได้เห็นเป็นถนนหนทาง การใช้ชีวิต สถานที่ทำงาน ซึ่งคนต่างชาติอาจจะไม่เคยเห็นและไม่เคยไปมาก่อน

Q : พูดถึงฉากสำคัญ ๆ ของซีรีส์เรื่องนี้?

คุ่น : ฉากใหญ่ ๆ เป็นฉากเกี่ยวกับอุบัติเหตุและอุบัติภัยใหญ่ ๆ ที่ต้องมีการเข้าไปช่วยเหลือกู้ชีพกู้ภัย อย่างไฟไหม้อาคาร อุโมงค์ถล่ม หรือฉากรถชนครั้งใหญ่ที่เป็นฉากเปิดของเรื่อง ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้ตัวละครได้โคจรมาพบกัน ก่อนจะนำไปสู่การไขปมปริศนาต่อ ๆ ไปในเรื่อง

Q : การพัฒนาบทและตัวละคร เป็นมายังไง?

คุ่น : ในซีรีส์เรื่องนี้ตัวละครเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เราเล่าเรื่องราวผ่าน ‘วันชัย’ ที่แสดงโดยคุณเวียร์ เป็นตัวละครที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วได้เผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดฝันนำไปสู่การเดินทางของตัวละครที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง ซึ่งการเดินทางของตัวละครนี้จะเป็นเส้นหลักของเรื่องไปด้วย เราก็ประกอบเรื่องจากตรงนั้น โดยมีอีกหนึ่งตัวละครหลักชื่อ ‘แคต’ ที่เป็นนักข่าว ความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้ เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่ทำให้ทั้งสองคนต้องมาผจญภัยร่วมกันในสถานการณ์ที่อิงมาจากเรื่องราวการทำงานและประสบการณ์จริงของคนในวงการกู้ภัยที่เรามองว่าน่าสนใจ และที่สำคัญหัวใจของบทก็คือการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน น่าติดตาม มีความตื่นเต้น มีจุดหักมุม มีพัฒนาการของตัวละคร

Q : ความรู้สึกในฐานะผู้จัดที่ได้เห็นบทถูกพัฒนาจนกลายมาเป็นซีรีส์?

คุ่น : ในฐานะผู้จัดที่ต้องดูภาพรวมของทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวกับซีรีส์เรื่องนี้ รู้สึกว่าเป็นความสนุกและท้าทายอีกแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ชอบที่สุดอยู่ในระหว่างทางที่ทุกอย่างดำเนินไปและสิ่งที่เรากำลังประสบพบเจออยู่ในขณะนั้น นั่นคือการได้ร่วมงานกับมืออาชีพหลายคนที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมายาวนานมาก ๆ และมีความเชี่ยวชาญงานในหน้าที่ของตนเองสูง ผมอาจจะเป็นคนที่หน้าใหม่ที่สุดแม้ว่าจะเคยมีประสบการณ์การทำภาพยนตร์มาบ้างก็ตาม ดังนั้นการได้ทำงานกับคนเก่ง ๆ และนักแสดงฝีมือระดับแนวหน้าของไทย การได้ถ่ายทำฉากใหญ่ ๆ ในระดับที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก ที่ได้เห็นภาพที่เคยอยู่ในกระดาษค่อย ๆ กลายเป็นความจริงขึ้นมาในทุก ๆ วัน ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนหนังสือที่เป็นงานสันโดษ ทำคนเดียว คิดคนเดียว แม้ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องเหมือนกัน แต่งานภาพยนตร์ต้องอาศัยบุคลากรจำนวนมาก และทุกคนต้องมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องทำให้สำเร็จและต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การออกกองเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ผมชอบมาก ได้เห็นทุกคนช่วยกันทำให้งานแต่ละวันผ่านไปได้อย่างราบรื่นและดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีความรับผิดชอบและมีวินัยมาก การได้ทำงานกับคนที่มีประสบการณ์มากกว่ายิ่งช่วยผลักดันและทำให้ เรารู้สึกสบายใจมากขึ้นในการทำงาน

 Q : รู้สึกอย่างไรที่ซีรีส์เรื่องนี้จะได้เผยแพร่สู่สายตาผู้ชมทั่วโลก?

คุ่น : แน่นอนว่าตื่นเต้นและดีใจที่จะได้เห็นงานเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก และภูมิใจที่ได้ทำงานกับทีมคนไทย หวังว่าจะ ออกมาดี และผู้ชมจะชอบซีรีส์เรื่องนี้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เตรียมตัวให้พร้อม แล้วมาพบมุมมืดที่ซ่อนอยู่ในเมืองฟ้าอมร อย่าง “กรุงเทพฯ” เมืองดุจเทพสร้าง ที่รอคอยทุกคนมาหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วมหานครแห่งนี้เป็น “เมืองหลวง” หรือ “เมืองลวง” กันแน่  ในซีรีส์ “Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง”  สตรีมพร้อมกัน ทาง Netflix