เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย​ (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง​ (กอปภ.ก.) กล่าวว่า กอปภ.ก. ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 ก.ย. เวลา 10.00 น. แจ้งว่าพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางที่ทวีกำลังแรงจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลาง ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.) และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง 

กอปภ.ก.โดย ปภ. จึงประสานแจ้งไปยัง 44 จังหวัดภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. แยกเป็น ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่​ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร​ อุทัยธานี นครสวรรค์ และ เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภูบึงกาฬ สกลนคร​ นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์​ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่นมหาสารคาม ชัยภูมิ และนครราชสีมา รวมทั้งภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สระบุรี ลพบุรีสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด 

โดยกำชับให้จังหวัดประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดภัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งเตือนหรือพิจารณาปิดกั้นพื้นที่เพื่อความปลอดภัย        

อีกทั้งได้เน้นย้ำทีมปฏิบัติการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามแนวทางของแผนเผชิญเหตุในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม อีกทั้งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคม ออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว ที่สำคัญ ให้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (ERT) ชุดเคลื่อนที่เร็ว รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมทรัพยากรให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที