ทีมนักวิจัยจากสหรัฐ เพิ่งประกาศผลการสำรวจที่น่าตกตะลึง โดยระบุว่า พวกเขาพบเศษพลาสติกจำนวนหลายหมื่นชิ้นลอยอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวด ชิ้นส่วนพลาสติกเหล่านี้มีขนาดเล็กมากในระดับที่ต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ ถึงจะมองเห็น
เมื่อทีมนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองลามอนต์-โดเฮอร์ตี แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รัฐนิวยอร์ก ใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพที่ละเอียดอ่อน ตรวจสอบตัวอย่างน้ำที่เก็บจากน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อดัง 3 ยี่ห้อ (ไม่มีการระบุชื่อ) ก็พบว่าน้ำในขวดเหล่านี้ มีเศษพลาสติกขนาดจิ๋วจำนวนหลายหมื่นชิ้นต่อน้ำ 1 ลิตร
จำนวน 90% ของพลาสติกเหล่านี้ มีขนาดเล็กมาก หรือที่เรียกกันว่า “นาโนพลาสติก” ซึ่งเป็นขนาดที่เซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายคนสามารถดูดซึมเข้าไปได้ รวมถึงทะลุแนวกั้นระหว่างเลือดและสมองได้ด้วย
ผลของการวิจัยซึ่งเพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐชื่อว่า “Proceedings of the National Academy of Sciences” ก่อให้เกิดความกังวลใหม่ ๆ เกี่ยวกับอันตรายของนาโนพลาสติกที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่าปริมาณของพลาสติกจิ๋วเหล่านี้มีอยู่มากกว่า 10-100 เท่า ของปริมาณที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ว่าน่าจะมีเพียงไม่กี่ร้อยชิ้น โดยมาจากวัสดุ PET ซึ่งเป็นพลาสติกใสที่ใช้ผลิตขวดบรรจุน้ำดื่มเหล่านี้
แต่เดิมก็มีรายงานว่าพบไมโครพลาสติก (เศษพลาสติกขนาด 1 ไมโครเมตรถึง 5 มิลลิเมตร) ในน้ำบรรจุขวดหรือน้ำประปาอยู่แล้ว แต่การค้นพบว่ามีอนุภาคนาโนพลาสติกซึ่งเล็กกว่าหลายเท่า (มีหน่วยเทียบเท่า 1/1,000,000 เมตร) ทำให้ปัญหาเรื่องเศษพลาสติกในน้ำดื่มน่ากังวลมากยิ่งขึ้น
เหยียนเป่ยจ้าน นักเคมีสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และผู้ร่วมเขียนผลงานวิจัยฉบับนี้ระบุว่า ขนาดที่เล็กมาก ๆ ของอนุภาคนาโนพลาสติก ทำให้มันมีอันตรายมากขึ้น อนุภาคเหล่านี้ สามารถเป็นตัวนำมลพิษหรือเชื้อโรคที่ติดอยู่บนพื้นผิวของมันเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น และแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ เนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ดี
สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของอนุภาคพลาสติกต่อสุขภาพคนนั้น ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น และเพิ่งจะมีการค้นพบอนุภาคพลาสติกในอวัยวะและร่างกายมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้เอง
ในบรรดาอนุภาคนาโนพลาสติกที่ตรวจพบนั้น สามารถระบุชนิดได้เพียง 10% เช่น PET, โพลีสไตรีน, โพลีไวนิล คลอไรด์, โพลีเมทิล เมทาไครเลต (เพล็กซีกลาสส์) ส่วนที่เหลือนั้น ไม่สามารถระบุชนิดหรือที่มาได้
แม้ว่าการวิจัยในครั้งนี้ ไม่ได้นำตัวอย่างน้ำประปาในสหรัฐมาตรวจสอบด้วย แต่ก็มีกรณีศึกษาน้ำประปาก่อนหน้านี้ ที่พบว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ในน้ำประปา โดยมีปริมาณต่ำกว่าในน้ำดื่มบรรจุขวด
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตั้งเป้าว่าจะค้นคว้าเรื่องการปนเปื้อนของนาโนพลาสติกในประเด็นอื่น ๆ รวมถึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยหลายแห่ง ในการตรวจวัดปริมาณของนาโนพลาสติกในเนื้อเยื่อร่างกายมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายคนต่อไป
ที่มา : latimes.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES