อุณหภูมิโลกเพิ่มอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2566–2575 เป็นต้นไป อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 0.8 องศาเซลเซียส เป็น 1.2 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบอย่างมากบนโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ในมุมของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก หากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนขึ้นเรื่อย ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เรื่องนี้เอง “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) ได้วิเคราะห์ผลกระทบเอลนีโญ ต่อต้นทุนเกษตรกรพบว่าปี 2567 การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกเพิ่มมากกว่า 1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ปริมาณนํ้าของไทยในปี 2567 “ลดลง 4,025 ล้านลูกบาศก์เมตร” จากปี 2566 ทำให้ปริมาณนํ้าสำหรับเพื่อใช้ในการเกษตรลดลง เนื่องจากภาคเกษตรกรรมต้องการนํ้ามากสุดคิดเป็น 80% ของการใช้นํ้าทั้งหมดของประเทศ

ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตภาคเกษตร “ที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นอีก” ชาวนาและเกษตรกรอื่น จะมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากมากขึ้นจาก “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและรายได้ลดลง” และเมื่อพิจารณาตั้งแต่ปี 2554-2566 ปริมาณนํ้าฝนของไทยลดลงเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี โดยช่วงปี 2554-2558 ลดลง 27% และช่วงปี 2559-2562 ลดลง 21.7% บริษัทไออาร์ซี คาดการณ์ว่าในปี 2567 ปริมาณนํ้าฝน ลดลง 5-15% เทียบกับปี 2566 ปริมาณนํ้าฝนทั้งในไทยและอาเซียนที่ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวเปลือกในอาเซียนอย่างมาก โดยปี 2567 บริษัท IRC ประเมินว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2538-2565) ในอาเซียนเกิดภาวะ เอลนีโญ หนัก 2 ครั้ง คือ ช่วงปี 2542-2544 และช่วงปี 2556-2559 แต่ละช่วงทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกอาเซียนลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ปี 2567 ผลผลิตข้าวเปลือกไทย “ลดลงมากสุด 3.5 ล้านตัน ในปี 2567 และ 5.1 ล้านตันในปี 2568” ตามด้วยผลผลิตข้าวเปลือกของอินโดนีเซีย เวียดนามและเมียนมา ในจำนวน 5 พืชเศรษฐกิจของไทยคือ ข้าว ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ทุเรียน และมันสำปะหลัง ในปี 2567 หาก “อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1% และปริมาณนํ้าฝนลดลง 1%” ทำให้ผลผลิตข้าว ปาล์มนํ้ามัน ทุเรียน ลดลงมากสุด โดยปี 2567 คาดว่า ผลผลิตข้าวเปลือกลดลง 1.3 ล้านตัน ปาล์มนํ้ามัน ลดลง 6 แสนตัน และทุเรียนลดลง 4.9 แสนตัน เมื่อปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกไทยที่ลดลงในปี 2567

เอลนีโญทำให้ปริมาณการผลิตข้าวเปลือกลดลง ส่งผลทำให้ไทยมีข้าวส่งออกลดลงจาก 8.5 ล้านตัน ปี 2566 เหลือ 7.2 ล้านตันในปี 2567 เป็นอันดับสองของโลก ส่วนทิศทางราคาข้าวไทยในตลาดโลก “แพงสุดในโลก” จากผลผลิตที่ลดลง ส่งผลทำให้สต๊อกข้าวของโลกลดลง 4 ปีติดต่อกัน คาดว่า สต๊อกข้าวลดลง 1% ทำให้ราคาข้าวโลกเพิ่มขึ้นถึง 4% และราคาข้าวโลกปี 2567 อยู่ที่ 610-670 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

อย่างไรก็ตามจากผลของ เอลนีโญ ยังทำให้รายได้ต่อไร่ของชาวนาและชาวสวนยางพาราติดลบมากสุด คือ ติดลบ 971 บาทต่อไร่ และติดลบ 3,315 บาทต่อไร่ แต่รายได้ของชาวสวนทุเรียนลดลงมากสุด 21,932 บาทต่อไร่ และปาล์มนํ้ามัน 3,505 บาทต่อไร่ และที่สำคัญกว่านั้น เอลนีโญยังทำครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้เพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนชาวนามีหนี้เพิ่มมากสุดอยู่ที่ 298,530 บาท ต่อครัวเรือน ตามด้วยยางพารา 271,700 บาทต่อครัวเรือน และปาล์ม มันสำปะหลัง และทุเรียน ตามลำดับ ทำหนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 8% หรือ 8 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มในปี 2567 กรณีไม่มีเอลนีโญ ที่ 11.6 ล้านล้านบาท เป็น 11.7 ล้านล้านบาท กรณีมีเอลนีโญ

ดังนั้น ในปี 2567 “นํ้าจะเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย” ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งบริหารจัดการ และหาแหล่งนํ้าเพื่อเกษตรกร “โดยด่วน” เช่น 1.ผลักดันให้เกิดระบบ “Smart Water” โดยใช้เทคโนโลยีนํ้าน้อย ทำให้ดินชุ่มชื้น 2.ส่งเสริมให้เกิดโครงการ “1 แหล่งนํ้า 1 เกษตรกร3.ตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการนํ้ารายพืชเศรษฐกิจ” ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น 4.เกษตรกรจัดทำ “บัญชีนํ้า” เพื่อบริหารว่าในแต่ละปีต้องใช้นํ้าเท่าไร และต้องหานํ้าเพิ่มอีกเท่าไร เพื่อให้เพียงพอใช้ในแต่ละปี 5.เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรจัดสรรพื้นที่เพื่อเก็บนํ้าในแต่ละปีสำหรับตนเองและชุมชน “บ่อนํ้าอนาคต” 6.โครงการ “นํ้ามันราคาถูกเพื่อเกษตรกร” หรือ “โซลาร์เซลล์เพื่อนํ้า” โดยลดราคาแผงโซลาร์เซลล์เพื่อไม่เพิ่มภาระต้นทุนการเกษตรในการสูบนํ้า 7. รางวัล “เกษตรกรนํ้าแห่งชาติ” เพื่อจูงใจให้เกษตรกรดีเด่นที่บริหารจัดการนํ้ามีประสิทธิภาพดี ใช้นํ้าน้อยลง แต่ผลผลิตไม่ลดลง.

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]