วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วัสดุสร้างสรรค์ไทยที่มีนวัตกรรม ฯลฯ วัสดุหลายรายการนี้ ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) TCDC กรุงเทพฯ ได้คัดเลือกนำเข้าฐานข้อมูลวัสดุไทย และฐานข้อมูลวัสดุระดับโลกอย่าง Material ConneXion® สำหรับนักออกแบบ นักสร้างสรรค์วัสดุ ผู้ประกอบการ ผู้ที่มองหาวัสดุได้เข้าถึงวัสดุ นำไปใช้เพื่อการออกแบบ ทั้งเพิ่มโอกาสสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้พาสำรวจวัสดุที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน วัสดุชุดใหม่ที่นำเข้าสู่ฐานข้อมูล โดย ดร.ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมองค์ความรู้ และมนต์นภา พานิชเกรียงไกร นักจัดการความรู้อาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เล่าถึง Thai BCG Materials วัสดุไทย สร้างสรรค์สู่ความยั่งยืน ที่นำมาจัดแสดง ส่งต่อการต่อยอดสร้างสรรค์ว่า จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ว่าด้วยเรื่องสภาวะโลกร้อน ภาวะโลกรวน ฝุ่นมลพิษทั้งหลายซึ่งก่อให้เกิดความตระหนักทั้งผู้ใช้งานและผู้ผลิต ทำอย่างไรให้โลกยั่งยืนขึ้น
“ด้วยที่เราให้บริการฐานข้อมูลวัสดุทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยในส่วนฐานข้อมูลวัสดุไทย เป็นการรวบรวมข้อมูลวัสดุไทยเข้าสู่ฐานข้อมูลเพื่อเป็นสื่อกลางการให้ข้อมูล โดยผู้ผลิตวัสดุสามารถบอกเล่าข้อมูลวัสดุ ขณะที่ผู้ใช้งาน นักออกแบบ หรือบุคคลทั่วไป ได้เข้ามาค้นหา เลือกใช้วัสดุ โดยเรามีแพลตฟอร์มการถ่ายทอดตัววัสดุและมีหน้าที่คัดเลือกวัสดุที่น่าสนใจรวบรวม เป็นแหล่งข้อมูลวัสดุและนวัตกรรมสำหรับต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ในเรื่องความยั่งยืน เราคัดเลือก วัสดุที่ตอบโจทย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากขึ้น อย่างครั้งนี้คัดเลือกวัสดุในแนวคิดความยั่งยืน นำวัสดุจริง 140 ชิ้นจาก 50 ผู้ประกอบการไทยจัดแสดง เล่าถึงการประยุกต์ใช้ พัฒนาวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นต้นทางตัวของวัสดุ นวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตซึ่งมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จัดแบ่งตามหมวดหมู่ที่มีอยู่เดิมในแพลตฟอร์ม อย่างเช่น การนำไปใช้ เช่น กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผ้าและสิ่งทอ รวมถึงวัสดุสำหรับการก่อสร้าง ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้และการค้นหา”
วัสดุในกลุ่มกระดาษ อย่างเช่น กระดาษจากเปลือกถั่วลิสง วัสดุเหลือทิ้งที่นำมาสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดออกแบบอย่างยั่งยืนนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน กระดาษสามารถผสมสีจากธรรมชาติตามต้องการได้ ทั้ง สามารถขึ้นรูปเป็นภาชนะ บรรจุภัณฑ์ได้เหมือนวัสดุกระดาษอื่น ๆ และนำไปต่อยอดในงานออกแบบได้ เช่น วัสดุปิดผิว วัสดุตกแต่งภายใน ฯลฯ
กระดาษจากกาบกล้วย กาบกล้วยส่วนที่เหลือทิ้งในปัจจุบันมีนวัตกรรมนำมา ผลิตเป็นหนัง ให้ความคงทน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการลดการใช้หนังสัตว์ โดยวัสดุหนังจากกาบกล้วย สามารถขึ้นรูปผลิตแทนหนัง มีความหลากหลายของสีสัน ทั้งนี้แต่ละฤดูกาลกาบกล้วยจะให้โทนสีต่างกัน เช่นฤดูฝนมีนํ้ามาก หน้าแล้งนํ้าน้อย โทนสีจะต่างกัน ไล่สีกันในวัสดุสร้างจุดเด่นให้กับวัสดุ เป็นต้น
กลุ่มวัสดุทดแทนไม้ วัสดุอัดขึ้นรูปจากกากกาแฟ จากเส้นใยเส้นด้ายเหลือใช้ นำมาอัดทดแทนการใช้ไม้ได้ อาทิ แผ่นไม้อัดดัดโค้งผลิตจากไม้ซุง แผ่นไม้อัดที่มีความยืดหยุ่นสูงสามารถม้วนได้โดยไม่หัก ฯลฯ ไม้อัดบล็อกจากแกนกัญชง วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติที่มักถูกกำจัดทิ้ง ผลิตขึ้นจากการบดแกนต้นกัญชงในขนาดที่ต่างกันพร้อมอัดขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ ทั้งสามารถเติมสีสันตามธรรมชาติ ตัดแต่งขนาดที่ต้องการ รวมถึงอีกหลากหลายวัสดุที่น่าสนใจ
นอกจากนี้มี สีจากวัสดุธรรมชาติ สีจากเศษอาหาร เปลือกผลไม้เพิ่มความหลากหลาย โดยสามารถสืบค้นข้อมูลวัสดุได้ทั้งออนไลน์จากเว็บไซต์ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ และออนไซต์ เข้ามาค้นข้อมูลด้วยตนเอง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า วัสดุใหม่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี
“วัสดุไทยส่วนใหญ่มาจากวัสดุธรรมชาติ ด้วยที่ประเทศเป็นเมืองร้อน มีความได้เปรียบในเชิงธรรมชาติ วัสดุจึงมีความหลากหลายทั้งสามารถนำองค์ความรู้ทรัพยากรธรรมชาติ นำมาสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดวัสดุได้เยอะมาก และด้วยที่นี่เรามีฐานข้อมูลระบบนานาชาติอยู่ด้วยจึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านวัสดุถึงกัน เป็นอีกช่องทางในเรื่องวัสดุ เพิ่มขีดความสามารถการนำไปสร้างสรรค์ และการพัฒนา”
ความยั่งยืนทุกภาคส่วนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน ตระหนักถึงภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร การพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตยังคงขับเคลื่อน โดยประเทศไทยเรามีวัสดุธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ และเลือกนำไปใช้ต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์ได้มาก และในความหลากหลายของวัสดุไทยหากแยกเป็นโทนสี หรือลวดลายก็มีความโดดเด่น ซึ่งครั้งนี้จัดแสดงวัสดุถ่ายทอดผ่าน 4 ธีม Eco & Smart ,Friendly & Chic, Earth Tones และ Green & Glam ร่วมบอกเล่าวัสดุไทย วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน เซฟโลก.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]