สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ว่า อุณหภูมิ 48.8 องศาเซลเซียสดังกล่าว ได้รับการบันทึกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 บนเกาะซิซิลี ของอิตาลี ซึ่งทำลายสถิติเดิมที่ 48 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2520 ในกรุงเอเธนส์ และเมืองเอเลฟซินา ของกรีซ

“มันมีความเป็นไปได้ และมีแนวโน้มที่ภาวะสุดขั้วที่รุนแรงกว่านี้ จะเกิดขึ้นทั่วยุโรปในอนาคต” ศาสตราจารย์แรนดัล เซอร์เวนี ผู้รายงานเกี่ยวกับภูมิอากาศและสภาพอากาศสุดขั้วของดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าว “การตรวจสอบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าตกใจ สำหรับการบันทึกอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งของโลก”

สืบเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทวีปยุโรปจึงร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยของโลก โดยอยู่ที่ 2.2 องศาเซลเซียส ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ บันทึกอุณหภูมิใหม่ที่ได้รับการยืนยัน จะรวมอยู่ในรายงานสถานะสภาพภูมิอากาศประจำปีของดับเบิลยูเอ็มโอ ซึ่งแจ้งให้ทราบถึงการตัดสินใจระดับสูง เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความร้อนทั่วโลก

ด้านนักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า สภาพอากาศสุดขั้วรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน, ภัยแล้ง และอุทกภัย กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม เมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้น ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงระบบนิเวศ, สุขภาพ, เกษตรกรรม และแหล่งน้ำ ขณะที่บรรดาผู้สันทัดกรณีของดับเบิลยูเอ็มโอ กำลังดำเนินการตรวจสอบภาวะสุดขั้วอื่น ๆ เช่นกัน.

เครดิตภาพ : AFP