ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดัน หลังจากพัฒนาระบบชำระเงินที่เรียกว่า โครงการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนท์ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จจนคนไทยได้เริ่มใช้เงินบนดิจิทัลแทนเงินสดในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะบนแอพพลิเคชั่นธนาคาร (โมบายแบงกิ้ง) แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่และยังเป็นสิ่งที่ยังแก้ไม่ตก คือ “ระบบล่ม” เมื่อถึงเวลาคนใช้จำนวนมาก เช่น ต้นเดือน หรือสิ้นเดือน มักจะขัดข้องมีปัญหาแทบจะทุกครั้ง

แล้วรู้หรือไม่ว่า..แต่ละธนาคาร ระบบขัดข้องกันมากแค่ไหน “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ” ได้เผยแพร่สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ โดยสิ้นไตรมาส 3 ปี 64 ที่ผ่านมา (เดือน ก.ค.-ก.ย.64) พบว่า แค่ 3 เดือนนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง 4 ช่องทาง ทั้งโมบายแบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เอทีเอ็ม และสาขาธนาคารรวมกันถึง 38 ครั้ง ขัดข้องรวมกันนานถึง 88 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 64 (เดือน เม.ย.-มิ.ย.)ที่ช่วงนั้นขัดข้องรวม 4 ช่องทางเพียง 21 ครั้ง

สำหรับระบบธนาคารขัดข้อง 4 ช่องทางในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.64 แบ่งเป็น โมบายแบงกิ้ง 21 ครั้ง มีธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกับธนาคารทหารไทยธนชาตมากที่สุดถึง แห่งละ 5 ครั้ง รองลงมาเป็นธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์ แห่งละ 3 ครั้ง ส่วนธนาคารกรุงศรีฯโมบายแบงกิ้งขัดข้อง 2 ครั้ง และธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก้ แห่งละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ระยะเวลาที่โมบายแบงกิ้งขัดข้องในช่วง 3 เดือนนี้รวม 21 ครั้งนั้น พบว่ามีระยะเวลาขัดข้องรวมถึง 51 ชั่วโมง ในส่วนนี้มีมากสุดโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องนานถึง 20 ชั่วโมง คือ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย รองลงมาคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขัดข้องนาน 12 ชั่วโมง

ด้าน อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ขัดข้อง 3 ครั้ง นาน 5 ชั่วโมง, ธนาคารทหารไทยธนชาต 2 ครั้งนาน 6 ชั่วโมง และธนาคารกรุงไทยกับธนาคารกรุงศรีฯ ขัดข้องแห่งละ 1 ครั้ง นานแห่งละ 2 ชั่วโมง

ส่วน เอทีเอ็ม มีธนาคารทหารไทยธนชาตขัดข้อง 2 ครั้ง และมีขัดข้องแห่งละ 1 ครั้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีฯ, ธนาคารทิสโก้ และธนาคารยูโอบี

ขณะที่ สาขา ธนาคารขัดข้อง เป็นธนาคารทหารไทยธนชาต 3 ครั้ง และธนาคารยูโอบี 3 ครั้ง