สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ว่า ดร.ราล์ฟ แวนสตรีลส์ สัตวแพทย์ที่ทำงานร่วมกับสการ์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยพบซากเพนกวินประมาณ 35 ตัว บนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตัวอย่างที่ได้รับการทดสอบมีผลเป็นบวก และตรวจพบไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (เอชพีเอไอ) สายพันธุ์ เอช5เอ็น1

“รัฐบาลของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ระบุว่า เพนกวินเจนทูจำนวนมาก กำลังตายในลักษณะเดียวกัน หลังมีรายงานเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ว่า พบซากของลูกเพนกวินเจนทูมากกว่า 200 ตัว และเพนกวินเจนทูตัวเต็มวัยอีกจำนวนหนึ่ง” นางแซลลี ฮีธแมน โฆษกหญิงของรัฐบาลหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ กล่าว

แม้เหตุการณ์ข้างต้นเป็นการยืนยันว่า เพนกวินเจนทูอ่อนแอต่อไข้หวัดนก แต่พวกมันไม่ค่อยเดินทางระหว่างหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ นอกชายฝั่งของอาร์เจนตินา และคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ประมาณ 1,300 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า เพนกวินเจนทู ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดนกในทวีปทางตอนใต้

ด้านฮีธแมน กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ กำลังรอผลการทดสอบตัวอย่างจากเพนกวินร็อกฮอปเปอร์ และเตรียมความพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดในวงกว้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม แวนสตรีลส์ ระบุว่า บรรดานักอนุรักษ์ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับสัตว์สายพันธุ์อื่นมากกว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นาน มีรายงานพบแมวน้ำขน และแมวน้ำช้าง ตายจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเป็นจำนวนมาก บนเกาะเซาท์จอร์เจีย และในทวีปอเมริกาใต้

“นี่คือเรื่องที่น่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะเกาะเซาท์จอร์เจีย เป็นบ้านของแมวน้ำขนแอนตาร์กติกจำนวนมากถึง 95% ของโลก ซึ่งหากประชากรของพวกมันลดลง สัตว์สายพันธุ์นี้จะตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ” แวนสตรีลส์ กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP