จากกรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วไปนั้น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง เงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติจำนวนทั้งสิ้น 1,120 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

โดยพบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือ รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.3 และ กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000–35,000 บาทต่อเดือนมีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.6 ในขณะที่ กลุ่มรายได้เกิน 35,000 บาทขึ้นไปมีความเชื่อมั่นร้อยละ 57.5 ว่าการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่าในกลุ่มคนในภาคเหนือมีความเชื่อมั่นสูงสุดคือร้อยละ 75.4 รองลงมาคือกลุ่มคนในภาคกลางมีความเชื่อมั่นร้อยละ 74.2 กลุ่มคนในภาคอีสานมีความเชื่อมั่นร้อยละ 73.6 กลุ่มคนกรุงเทพมหานครมีความเชื่อมั่นร้อยละ 68.7 และกลุ่มคนในภาคใต้มีความเชื่อมั่นร้อยละ 65.8 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อยคือต่ำกว่า 20 ปีเกินครึ่งคือร้อยละ 54.1 และกลุ่มคนอายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 47.2 ระบุควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเพราะรออยู่ และที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 ที่ระบุ ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่ เช่นกัน ในขณะที่ กลุ่มคนอายุ 40–49 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มคนอายุ 50–59 ปีมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือร้อยละ 26.7 ที่ระบุ ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนอายุ 40–49 ปี ร้อยละ 43.8 และกลุ่มคนอายุ 50–59 ปี ร้อยละ 42.2 ไม่มีความเห็น นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มคนในภาคกลางส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 และกลุ่มคนในภาคใต้จำนวนมากหรือร้อยละ 43.9 ระบุรออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในขณะที่ กลุ่มคนในภาคเหนือเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.8 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานครร้อยละ 32.6 ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่น่าสังเกตคือ 2 กลุ่มคนในภาคอีสานมีจำนวนน้อยที่สุดหรือร้อยละ 26.4 ที่ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลุ่มคนในภาคอีสานมีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 44.5 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 41.6 ที่ไม่มีความเห็น

ผศ.ดร.นพดล ระบุว่า โพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นระดับสูงว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อยต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มรายได้ 15,000 ถึง 35,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนเกษียณอายุคืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลโดนใจและตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรายได้น้อยและคนในช่วงอายุน้อยของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนสูงวัยที่สะท้อนถึงความต้องการให้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นจริงขึ้นมาเพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ต้องการใช้เงินและเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน

ผศ.ดร.นพดล ยังระบุด้วยว่า เมื่อแบ่งกลุ่มคนออกตามภูมิภาคต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มคนในแต่ละภูมิภาค คือ กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่รออยู่และเห็นว่าไม่ต้องทบทวนแก้ไขอะไร โดยเฉพาะกลุ่มคนในภาคกลางที่มีความเป็นกลางในทางกลางความหลากหลายสูงในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยและภาคใต้ที่กลุ่มคนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนในภาคอีสานแม้จะมีสัดส่วนของคนที่ระบุว่ารออยู่และเห็นว่าไม่ต้องทบทวนปรับปรุงอะไรน้อยกว่าทุกภาค น่าจะเป็นเพราะกลุ่มคนในภาคอีสานส่วนใหญ่อย่างไรก็เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยจึงส่งผลให้สัดส่วนของคนที่ไม่มีความเห็นมากกว่ากลุ่มคนในภาคอื่น ๆ เพราะอย่างไรก็ได้ไม่กระทบรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่กลุ่มคนในกรุงเทพมหานครที่มีสัดส่วนของคนที่ไม่มีความเห็นสูงเช่นกันแต่ลักษณะของคนกรุงเทพมหานครแตกต่างจากกลุ่มคนในภาคอีสานเพราะคนกรุงเทพมหานครแม้จะมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยสูงแต่มีความหลากหลายทางความคิดและชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม คือข้อห่วงใยของผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลที่เคยทำวิจัยพบว่าความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของประชาชนคนไทยบนโลกออนไลน์อยู่ในสภาวะวิกฤติเพราะข้อมูลของประชาชนคนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในมือขบวนการมิจฉาชีพ ทั้งชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรฯ เลขที่บัญชี สถานะทางการเงิน และล่าสุดข้อมูลเชิงทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนกำลังอยู่ในมือของขบวนการผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ทั้งกลุ่มขาว กลุ่มเทา ๆ และกลุ่มดำ อย่างน่าวิตกกังวลมาก ที่รัฐบาลควรใส่ใจในการเตรียมแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชน

“ทางออกคือ ยกระดับนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติ เร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไซเบอร์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นสูง รองรับการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลให้ทุกคนปลอดภัย ไม่ซ้ำรอยคดีจำนำข้าว ลดแรงเสียดทานจากกลุ่มต่อต้าน ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สามารถเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือทางเลือกอื่นของบริการเทคโนโลยีความปลอดภัยสูงทางไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากลมีธรรมาภิบาล เช่น AWS ที่มีโทคโนโลยีดิจิทัลเป็นไปตามกรอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Framework) และเทคโนโลยีดิจิทัลตามมาตรฐานของ NIST สหรัฐอเมริกา ISO มาตรฐานโลกและกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นด้านการจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและระดับประเทศ รักษาความมั่นคงของชาติ สถาบันหลักของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนไปในคราวเดียวกันนี้ได้สำเร็จตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล” ผศ.ดร.นพดล กล่าว