โดยในปี 2567 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ แน่นอนว่าก่อนที่จะถึงวันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว เหล่าลูกหลานเชื้อสายจีนต่างก็ออกมาจับจ่ายเลือกสรรเครื่องอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารไหว้มงคล กระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้า ไปจนถึงของประดับตกแต่งบ้านต่าง ๆ

แม้ว่าตรุษจีนจะถือเป็นเทศกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเริ่มต้นใหม่ ทว่าประเพณีที่ปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายอย่างที่ดูสิ้นเปลืองและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก อาทิ อาหารคาวหวานต่าง ๆ ที่นำมาไหว้มีปริมาณมากเกินไปจนเหลือทิ้ง เสื้อผ้าสำหรับใส่ในวันเทศกาลที่ซื้อใหม่ทุกปี อีกทั้งของประดับตกแต่งที่ใช้ครั้งเดียวและจบลงที่ถังขยะ ในขณะที่ปัจจุบันมนุษย์เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการตระหนักรู้ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า การนำประเด็นดังกล่าวมาประยุกต์วิธีคิดให้เข้ากับเทศกาลก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีกับเราและโลกอยู่ไม่น้อย Sustainable Daily จึงได้สำรวจ 6 วิธีที่จะทำให้การฉลองตรุษจีนในปีนี้สามารถก้าวไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

Free photo row of chinese red lanterns

1. เปลี่ยนการเลือกซื้อของแต่งบ้านอย่างคุ้มราคา

ของแต่งบ้านในวันตรุษจีนอย่างโคมไฟสีแดง ตัดเปเปอร์คัตติ้ง ตุ้ยเหลียน พู่ห้อย ไปจนถึงป้ายแขวนมงคล ให้พยายามเลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ และไม่ได้มีภาพนักษัตรเจาะจงปีต่อปี รวมถึงเลือกวัสดุที่ทนทานต่อการใช้งานหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซํ้าในปีต่อไปได้

2. เปลี่ยนวิธีการให้อั่งเปาแบบรักษ์โลก

แน่นอนว่าวิธีที่ง่ายและไม่สิ้นเปลืองที่สุดคือการให้อั่งเปาแบบ e-Angbao แต่หากรู้สึกว่าวิธีนี้จะทำให้ความสนุกและความน่าตื่นเต้นของการเฉลิมฉลองลดลง ให้ลองเปลี่ยนมาใช้ซองแดงที่ไม่ได้มีลวดลายของนักษัตรเจาะจงตามแต่ละปี และเลือกวัสดุที่ทำจากผ้าแทนกระดาษ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซํ้าได้อีกหลายครั้ง

Free photo girl praying in a temple

3. เปลี่ยนไอเดียในการเลือกและจัดการอาหารไหว้อย่างคุ้มค่า

ปีใหม่ทางจันทรคติจีนถือเป็นช่วงเวลาแห่งความอุดมสมบูรณ์ การจัดเซตอาหารจำนวนมากในวันดังกล่าวถือเป็นการขอพรให้โชคดีในปีหน้า อย่างไรก็ตามหากอาหารที่นำมาไหว้มีปริมาณมากจนเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดขยะเหลือทิ้งในปริมาณมากได้ ดังนั้นการเก็บอาหารเหลือถือเป็นวิธีง่าย ๆ ในการลดขยะ รวมถึงการรับประทานของเหลือจากการรวมญาติ ในวันแรกของเทศกาลตรุษจีนยังเป็นประเพณีดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองในปีใหม่อีกด้วย นอกจากนี้การเปลี่ยนมาเลือกรับประทานอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสร้างความยั่งยืนได้
เช่นกัน

Free photo close up on person making home comfortable

4. เปลี่ยนการละทิ้งสิ่งเก่าและเปิดรับสิ่งใหม่อย่างยั่งยืน

การทําความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ก่อนวันตรุษจีนถือเป็นสัญลักษณ์ของการละทิ้งสิ่งเก่าและสร้างพื้นที่สำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทว่ากระบวนการเหล่านี้มักก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลเมื่อเราทิ้งสิ่งของเก่า ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งของเหล่านั้นยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ลองเปลี่ยนเป็นการบริจาคหรือส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการสิ่งของเหล่านั้นตามมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

5. เปลี่ยนความคิดใหม่ในการซื้อเสื้อผ้าต้อนรับตรุษจีน

แม้ว่าตามความเชื่อในแบบฉบับของจีน การซื้อเสื้อผ้าใหม่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นรับสิ่งดี ๆ ในปีใหม่ ทว่าเรื่องของขยะสิ่งทอที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยังเป็นปัญหาระดับสากลที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล ฉะนั้นลองเปลี่ยนมาเลือกซื้อเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือโอกาสต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งวิธีในการหลีกเลี่ยงแฟชั่นแบบใช้ครั้งเดียวหรือใช้แล้วทิ้งได้ วิธีนี้นอกจากจะเป็นการเลือกบริโภคอย่างยั่งยืนแล้วยังคงไว้ซึ่งการรักษาความเชื่อตามประเพณีอีกด้วย

Free photo top view of cropped female hands serving dishes preparing for new year celebration

6. เปลี่ยนการเลือกซื้อขนมมงคลอย่างคุ้มทุน

ขนมขบเคี้ยวหรือของว่างมงคลนับว่าเป็นส่วนสำคัญในวันตรุษจีนที่ใช้มอบเป็นของขวัญสำหรับครอบครัว เพื่อน และคนรัก การเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวจะถือว่าไม่สมบูรณ์หากไม่มีกล่องหรือภาชนะสีแดงที่เต็มไปด้วยขนม ซึ่งหากเป็นกล่องกระดาษหรือพลาสติก เมื่อรับประทานหมดแล้วกล่องก็จะถูกทิ้งลงถังขยะอย่างสูญเปล่า จะดีกว่าไหมหากนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปทำความสะอาดและเก็บไว้ใช้ในปีต่อ ๆ ไป วิธีนี้นอกจากจะเป็นการลดขยะแล้วยังลดค่าใช้จ่ายในปีถัดไปที่ต้องซื้อขนมในรูปแบบกล่องสวยงามซึ่งมีราคาสูงเนื่องจากมูลค่าเพิ่มของบรรจุภัณฑ์อีกด้วย.

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]