เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมแถลงข่าวมาตรการรองรับหลังการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ว่า หลังประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวพบว่า ยังมีการเข้าใจผิด ดังนั้นตนขอชี้แจงว่า การกำหนดปริมาณครอบครองยาบ้า 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่า เป็นผู้เสพนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีความผิด โดยไม่ว่าจะครอบครองกี่เม็ด จะครึ่งเม็ด หรือ 1–5 เม็ด ก็มีความผิด เพียงแต่ต้องมีการคัดกรองแยกผู้เสพ และผู้ค้าออกจากกัน ผ่าน 3 มาตรการ คือ 1.ปลุกชุมชนเข้มแข็ง 2. เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และ 3. ปราบผู้ค้าที่เกี่ยวข้องกำหนดให้หนัก โดยเฉพาะข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องตัดรากถอนโคน   

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กรณีมีผู้ความเข้าใจว่า การเสพไม่ถือเป็นความผิดนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นผู้เสพ ผู้ครอบครอง หรือผู้ค้า ล้วนมีความผิดตามกฎหมายทั้งหมด กรณีผู้เสพถ้าหากพิสูจน์ได้ เช่น ตรวจปัสสาวะพบสารเสพติดในร่างกาย จะมีฐานความผิดคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีผู้ที่มียาเสพติดไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นไปตามที่กฎกระทรวงฯ ได้ประกาศไว้คือ ไม่เกิน 5 เม็ด ก็จะมีความผิดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนผู้ค้าไม่ว่าจะกี่เม็ด ก็ต้องได้รับโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000-1.5 ล้านบาท ให้ยาเสพติด เพียงแต่กฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการให้โอกาสผู้ที่หลงผิดได้กลับตัว ผ่านการบำบัด

ทั้งนี้ การบำบัดรักษาหากเป็นผู้เสพไม่มีอาการจะเข้าสู่ชุมชนบำบัด หากเป็นผู้เสพมีอาการ หรือเป็นอันตรายจะต้องเข้ารับการรักษาในรพ. หรือมินิธัญญารักษ์ จนครบตามกระบวนการ ราวๆ 3-4 เดือน หากรักษาแล้วดีขึ้น ทางผู้อำนวยการ รพ.จะออกใบรับรองให้ ทั้งนี้หากรักษาครบ สำเร็จตามเกณฑ์ก็ถือว่ายุติโทษ แต่หากไม่ครบก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ระหว่างที่บำบัดในชุมชนล้อมรักษ์ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับ ติดตาม มีกิจกรรมบำบัด จะไม่สามารเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ได้ จนกว่าจะรับการบำบัดจนอาการดีขึ้นแล้ว    

ทุกขั้นตอนในการกฎกระทรวง ออกมาเพื่อรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตร 107 วรรค 2 และผ่านคณะกรรมการทุกชุดที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความเห็น ก่อนเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ไม่ได้คิดเอง จึงขอฝากอินฟลูเอนเซอร์ และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ที่ออกมาให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม และกรณีที่บอกว่า ไม่โทษรัฐมนตรี แต่ก็เหมือนโทษ เพราะฉะนั้นขอให้กลับไปอ่านกฎหมายให้ดี  อย่าหวังเป็นดาวในโซเชียล

ด้าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ครอบครอบยาบ้าไม่ว่ากี่เม็ด ก็มีความผิดอยู่ ซึ่งในกรณีครอบครองต่ำกว่า 5 เม็ด กฎหมายไม่ได้บอกว่าเป็น “สันนิษฐานเด็ดขาด” แต่ใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพ” จากนั้นจะมีการพิจารณาจากพฤติการณ์รวมถึงหากครอบครองมากกว่า 5 เม็ด ผู้ครอบครองจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าไม่ได้มีไว้เพื่อการจำหน่าย หากพิสูจน์ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็จะมีความผิดฐานครอบครองยาเสพติดซึ่งมีความผิดตามกฎหมายเทียบเท่ากับผู้ค้า

ขณะที่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า กรณีผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษาแล้วกลับออกมาเสพซ้ำ ตามกฎหมายยังให้โอกาสเข้ารับการบำบัดซ้ำได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงมหาดไทย ต้องแบกรับภาระตรงนี้ต่อ เบื้องต้นทาง ป.ป.ส. มีงบประมาณรองรับในส่วนนี้ โดยขณะนี้ได้จัดสรรให้ใน 30 จังหวัด ที่มีปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดรวม 4,414 คน ให้จังหวัดละ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่าผู้ค้าจะศรีธนญชัย ปรับเปลี่ยนแพ็กเกจยาบ้าจาก 10 เหลือ 5 เม็ดนั้น ตรงนี้มีข้อมูลการวิจัย พบว่า พฤติกรรมผู้เสพจะครอบครองยาบ้าไว้สำหรับ 5 วัน ใช้เสพปริมาณวันละ 1 เม็ด ถ้าเกินกว่านี้ให้สันนิษฐานไว้ว่าไม่ใช่การเสพ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการปรับกลยุทธ์การขายยาบ้ามาเหลือ 5 เม็ด เพราะไม่ว่าครอบครองกี่เม็ดก็ถือว่ามีความผิด

ทั้งนี้ จากสถิติผลการจับกุมคดียาเสพติดข้อหาร้ายแรง เปรียบเทียบ ต.ค. 2565–ก.พ. 2566  พบว่าถูกดำเนินคดี 29,101 คดี และ ในช่วง 1 ต.ค. 2566–11 ก.พ. 2567 สามารถดำเนินดี 35,183 คดี  ทั้งนี้ ยังพบว่า ข่าวผลกระทบจากยาเสพติดในสื่อมวลชน กรณีพบผู้มีอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกาย หรือเผาทำลายบ้านเรือน พบว่าในปีงบประมาณ 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน มี 129 คน แต่ใน ปีงบประมาณ 2567 พบ 108 คน และจากการติดตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล หรือ Quick win ลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด ในพื้นที่เป้าหมาย 85 อำเภอ ใน 30 จังหวัด จำนวน 4,414 คน พบว่า ภาค 4 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวช  74  คน

พล.ต.ท.คีรีศักดิ์  ตันตินวะชัย ผบช.ปส. สตช. กล่าวว่า ตำรวจมีการจับกุมคดียาเสพติด 7,500 คดีต่อเดือน ฉะนั้นหลังมีการประกาศกฎกระทรวงนี้ จะมีการจับกุมเพิ่มอีกราว 15% ดังนั้นปริมาณตัวยาที่กำหนด ไม่มีนัยต่อการจับกุมคดียาเสพติด แต่เป็นการแยกผู้เสพออกไปบำบัด