นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เปิดเผยว่า ได้สำรวจความเห็นจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ค่าระวางเรือ และวัตถุดิบต่างๆ ที่สูงขึ้น เช่น นิกเกิล ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตภาพรวมเพิ่มสูง ดังนั้นคำสั่งซื้อ หรือออร์เดอร์ใหม่ มีแนวโน้มต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงเกือบทั้งหมด โดยประเมินว่า ภาพรวมในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ราคาสินค้า จะทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย ที่คาดว่า จะปรับขึ้นในอีก 1-2 เดือนนี้ หลังจากรัสเซียห้ามส่งออกปุ๋ย 

“น้ำมันขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีผลต่อราคาขายปลีกไทยขึ้น 25 สตางค์ต่อลิตร แต่ต้นทุนการผลิตยังมีอื่นๆ ทั้งวัตถุดิบ ชิ้นส่วนฯ ก่อนหน้านั้นทาง ส.อ.ท.ได้ขอให้สมาชิกช่วยตรึงราคาสินค้าแต่ยอมรับว่าสต๊อกเก่าที่มีอยู่เริ่มร่อยหรอลง ซึ่งแต่ละรายต้นทุนและสต๊อกก็ต่างกันไป ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐได้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงไป 3 บาทต่อลิตร ยังคงเหลือเก็บอยู่ประมาณ 2.99 บาทต่อลิตร จุดนี้อาจนำมาดูแลได้ แต่ก็เข้าใจว่า ถ้าน้ำมันดิบตลาดโลกที่เริ่มมีการพูดกันไปถึงระดับ 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเกิดขึ้นจริง การตรึงไว้ระดับเดิมก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน”

ทั้งนี้ผลสำรวจเอกชนได้เสนอให้รัฐออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน ซึ่งเห็นว่ารัฐควรจะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพราะเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการประหยัดก็ต้องทำควบคู่กันไป เช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้มหากดูแลไม่ให้ขึ้นได้ ก็จะส่งผลดีต่อประชาชน รวมถึงการคงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ