ตอนกลางวัน มีอุณหภูมิสูงมากกว่า 35 องศาเซลเซียส โดยฤดูร้อนจะสิ้นสุดกลางเดือนพ.ค.67 แน่นอนอุณหภูมิที่สูงขึ้นดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกต้นเดือนช่วงนี้หลายบ้านจะต้องตกใจกับบิลค่าไฟ ที่พุ่งกระฉูด ดูดเงินในกระเป๋าเพิ่มอีกไม่น้อย ทั้งที่มองว่า พฤติกรรมการใช้ก็ยังเหมือนเดิม จริง ๆ สาเหตุมาจากการทำงานหนักขึ้นของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ที่ต้องทำงานหนักกว่าช่วงปกติ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ

ทีม Sustainable Daily จึงได้สายตรงถึง “จาตุรงค์ สุริยาศศิน” รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และหมวกอีกใบโฆษก กฟน. มาเปิดถึงทริคดี ๆ ในการเอาตัวรอดสู้หน้าร้อนนี้ แบบสบายกระเป๋า ซึ่งหลาย ๆ ประเด็นทำได้ง่าย แต่หลาย ๆ คนอาจคิดไม่ถึง ผ่านทางช่องทางยูทูบของ Dailynews Online ในรายการ Sustainable Daily ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับความยั่งยืนในทุก ๆ ประเด็นร้อน ติดตามได้ในทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 16.30-17.00 น.

เซฟค่าไฟง่าย ๆ แค่เปิดแอร์ถูกวิธี 

“จาตุรงค์” ระบุว่า อันดับแรกจะต้องเริ่มจากการสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่พักอาศัยก่อนว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้างที่กินไฟจำนวนมาก เช่น อุปกรณ์ที่ทำอุณหภูมิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เครื่องปรับอากาศ” รวมถึงเตารีด เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน ที่พบว่า ช่วงฤดูร้อนมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าเครื่องทำอุณหภูมิประเภทอื่น ๆ เนื่องจากอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนที่ค่อนข้างสูง จะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องใช้กำลังไฟที่สูงขึ้นในการทำความเย็นให้ถึงอุณหภูมิที่ถูกตั้งไว้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างเข้าใจง่าย เช่น อุณหภูมินอกบ้าน 35 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกัน เราตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศภายในบ้านไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งต่างกับข้างนอกมากถึง 10 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า กว่าที่เครื่องปรับอากาศจะทำอุณหภูมิให้ตํ่าลงกว่าอากาศจริงได้ จำเป็นต้องดึงไฟมาใช้จำนวนมาก ต่างจากหน้าอื่น ๆ อุณหภูมิข้างนอกอยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียส การทำอุณหภูมิก็จะลดลงจึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมทุกหน้าร้อน ทุกคนรู้สึกว่าค่าไฟจึงแพงกว่าปกติ ทั้งที่พฤติกรรมการใช้ไฟยังเหมือนเดิม

สำหรับทริคการประหยัดไฟสำหรับเครื่องปรับอากาศเพิ่ม “จาตุรงค์” แนะนำว่า ให้เปิดแอร์เพิ่มอุณหภูมิขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส เช่นจาก 25-26 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 27-28 องศาเซลเซียส และเปิดพัดลมช่วย จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟลดลงถึง 10% วิธีนี้เป็นกลยุทธ์ในการหลอกร่างกายให้ปะทะกับลมของพัดลมโดยตรง ประกอบกับอุณหภูมิโดยรวมในห้องมีความเย็นจากลมแอร์เข้ามาเสริม จะทำให้ร่างกายรู้สึกเย็นคล้ายกับการเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่ตํ่าเท่าปกติ

อีกทั้งการเปิดพัดลม 1 ตัว เป็นเวลานานก็กินไฟเพียงไม่กี่วัตต์เท่านั้น เมื่อเทียบกับการเปิดแอร์ในอุณหภูมิตํ่า ๆ และอีกสิ่งที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง คือ การหมั่นล้างแอร์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยล้างก่อนหน้าร้อน 1 ครั้งจะช่วยให้แอร์ไม่ต้องทำงานหนักจนดึงเอาไฟมาใช้มากเกินไป และสามารถประหยัดไฟไปได้ 5-7% ต่อการล้างหนึ่งครั้ง รวมทั้งการปิดแอร์ให้เร็วขึ้นวันละ 1 ชม. จะช่วยประหยัดไฟได้ถึง 2.5-6.0 บาทต่อชม. (คิดจากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอัตรา 3.9 บาทต่อหน่วย) อีกด้วย

เปลี่ยนมิเตอร์ทีโอยูคุ้มหรือไม่ ใครควรเปลี่ยน

ปกติแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะตามบ้านเรือนหรือที่พักอาศัยต่าง ๆ โดยมากจะใช้ค่าไฟในอัตราประเภท 1.2 คือ อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอัตราแบบขั้นบันได โดยหน่วยที่ 1-150 จ่าย 3.2484 บาทต่อหน่วย หน่วยที่ 151-400 จ่าย 4.2218 บาทต่อหน่วย และหน่วยที่ 400 เป็นต้นไป จ่าย 4.4217 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังมีทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก อย่าง “อัตราค่าไฟฟ้า TOU” หรือ “อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้งาน” (Time of Use Tariff : TOU Tariff) เป็นอัตราที่บ่งชี้ถึงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า

แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (ออน พีค) และความต้องการใช้ไฟฟ้าตํ่า (ออฟ พีค) โดยวันจันทร์-ศุกร์ รวมถึงวันพืชมงคล ช่วงออน พีค คือช่วงที่ค่าไฟมีราคาสูง นับตั้งแต่เวลา 09.00-22.00 น. ราคาไฟจะอยู่ที่ 5.7982 บาทต่อหน่วย ส่วนช่วงออฟ พีค คือ ช่วงเวลาที่ค่าไฟมีราคาตํ่า นับตั้งแต่เวลา 22.00-09.00 น. ราคาไฟจะอยู่ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย และในส่วนของวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย วันแรงงานแห่งชาติ และวันพืชมงคล) ราคาไฟตลอด 24 ชม. จะอยู่ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย

ถามว่า ใครเหมาะเปลี่ยนจากมิเตอร์อัตราปกติ มาใช้มิเตอร์ทีโอยู ให้พิจารณาพฤติกรรมการใช้ไฟของบ้านตนเองก่อน หากใช้ไฟกลางวันค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เน้นในไฟในช่วงเวลากลางคืนและเสาร์-อาทิตย์ กลุ่มนี้จะเหมาะมากกับการเปลี่ยนไปใช้มิเตอร์ทีโอยู ในทางกลับกัน หากใช้ไฟในช่วงเวลากลางวันค่อนข้างมากซึ่งค่าไฟในช่วงเวลาดังกล่าวมีราคาสูงจะไม่เหมาะแก่การเปลี่ยนมาใช้อัตราทีโอยู ซึ่งการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นทีโอยู จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 6,640 บาท มีระเบียบการเปลี่ยนว่า จะต้องใช้อัตรานี้ไปอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี และหากเปลี่ยนใจอยากกลับไปใช้อัตราปกติ จะไม่คืนค่าธรรมเนียมให้ ดังนั้นผู้ที่สนใจจะต้องสำรวจและพิจารณาความเหมาะสมและคุ้มค่าอย่างถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ ถ้าใครอยากรู้ว่า ตัวเองมีพฤติกรรมอย่างไร ให้ลองจดมิเตอร์การใช้ไฟฟ้าที่หน้าบ้านดูในช่วงเวลา 09.00-22.00 น. และเวลา 22.00-09.00 น. และนำมาหักลบเวลาดู จะรู้ว่า พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าช่วงไหนมากกว่ากัน

“อีกข้อเสนอที่น่าสนใจ กรณีใช้ไฟมากในช่วงกลางวัน อาจใช้วิธีติดโซลาร์รูฟท็อปควบคู่ไปกับการใช้อัตราทีโอยู คือกลางวันใช้ไฟจากโซลาร์ ส่วนกลางคืนค่อยมาใช้ออฟ พีค และสำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์อีวี การใช้อีวี ชาร์จเจอร์ ที่บ้านในช่วงหลัง 4 ทุ่ม หรือเสาร์-อาทิตย์ ก็จะคุ้มค่าแก่การชาร์จไฟได้ในราคาที่ไม่แพงเท่าจุดบริการชาร์จตามสถานีต่าง ๆ ”

อีกหลากวิธีพิชิตหน้าร้อนง่าย ๆ 

ไม่เพียงเท่านี้ รองผู้ว่าการกฟน. ยังแบ่งปันเทคนิคการประหยัดไฟง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะมีตั้งแต่การเลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี แทนหลอดไส้ การปิดสวิตช์ และปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน การรีดผ้าควรจะรีดครั้งละมาก ๆ และไม่ควรรีดในห้องแอร์ การซักผ้าควรให้ปริมาณผ้าพอดีกับความจุของถัง เลือกระดับนํ้าพอดีปริมาณผ้าและใช้อุณหภูมิปกติ การจัดระเบียบตู้เย็นไม่ให้ของแน่นเกินไป ไม่เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ หรือเปิดทิ้งไว้นาน ๆ ไปจนถึงการเปิดประตูหน้าต่างระบายความร้อน และเมื่ออากาศโปร่งแล้วจึงปิดม่านบังแดดก่อนการเปิดเครื่องปรับอากาศ

หน้าร้อนระอุเช่นนี้ ไม่เพียงเฉพาะการปรับพฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้นที่สำคัญ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันร่วมด้วยก็จะถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการคลายร้อนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยเน้นใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ไม่ดูดซับแสง และเลือกเนื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย อีกทั้งการเลือกเสื้อผ้าทรงสบาย ๆ ไม่รัดรูปเกินไปก็จะช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี การเลี่ยงอาหารรสจัดเพื่อป้องกันอาการร้อนในและท้องร่วง รวมถึงการปลูกต้นไม้รอบบริเวณบ้านก็ถือเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการดับร้อนที่สามารถลดอุณหภูมิลงได้ 1-3 องศาเซลเซียสเช่นกัน.

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]